วันนี้ผ่านไปตรงสาย 3 ถ.ผดุงภักดี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เจอโรงเรียนหนึ่ง ตรงประตูรั้วโรงเรียนถูกคล้องด้วยโซ่มีกุญแจล็อคทับอีกชั้นหนึ่ง ภายในโรงเรียนเต็มไปด้วยใบไม้แห้งที่ล่วงหล่นเต็มบริเวณ อาคารเรียนที่เงียบเหงาเกินบรรยาย ป้ายหน้าโรงเรียนที่มุงหลังคาไว้อย่างดี มีตัวอักษรสีขาวเขียนไว้ว่า "โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์"
โรงเรียนแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของอำเภอหาดใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อท่านรองอำมาตย์ตรีดัด และคุณทวดเชย ดิษยะศริน เปิดโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาได้จนเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ.2478 จึงนับได้ว่า "โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา" (ชื่อเดิม) แห่งนี้ เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกที่เกิดขึ้นในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการเปิดโรงเรียนหลังจากที่ภาครัฐได้มีประกาศ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ผ่านพ้นไป 17 ปี การเปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาในรุ่นแรกนั้น มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.เตรียม ป.1 ไปจนถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษา บรรยากาศโดยทั่วไปของเมืองหาดใหญ่ในช่วงนั้น จัดว่าเป็นช่วงที่เมืองกำลังพัฒนา หลายสิ่งหลายอย่างเจริญเติบโตและมีพัฒนาการดีขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่ง เมื่อมีพลเมืองหนาแน่นขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศใช้ในพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะเมืองหาดใหญ่ขึ้นเป็น “สุขาภิบาลหาดใหญ่” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2478 ซึ่งในขณะที่ออกประกาศนั้น เมืองหาดใหญ่มีประชากรประมาณ 5,000 คน
ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการเปิดโรงเรียนหาดใหญ่วิทยานี้ สภาพของเมืองหาดใหญ่นอกจากจะมีความเจริญเติบโตในด้านถนนหนทางแล้ว ด้านอื่น ๆ ก็มีความเจริญพัฒนามากขึ้นด้วย อาทิ มีการตั้งตลาดเอกชนขึ้นในปีเดียวกันนี้ เรียกว่า "ตลาดเจียกีซี" นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์ "สุคนธหงส์" ของคุณพระเสน่หามนตรี(ชื่น สุคนธหงส์) เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้บรรยากาศหลายๆ ด้านของเมืองหาดใหญ่เริ่มคึกคักขึ้น
จนถึงทุกวันนี้ เกือบ 5 ปีแล้ว ที่โรงเรียนแห่งนี้ได้ปิดทำการไป ด้วยเหตุใดนั้นไม่อาจทราบได้ แต่หลายคนที่เคยสร้างความทรงจำไว้กับที่นี่คงไม่เคยลืมสถานที่แห่งนี้ หลายคนคงจำบรรยากาศหน้าเสาในตอนเช้าได้อย่างดีคิดถึงคุณครูประณีตที่มีแง่คิดดี ๆ มาพูดคุยกับลูก ๆ ในตอนเข้าแถวก่อนเข้าเรียน คิดถึงรสชาติข้าวหมูแดงของคุณป้าได้ว่าอร่อยมากแค่ไหน คิดถึงทุกคนที่เป็นชาวเหลือง-แดง คิดถึงความสุขช่วงที่มีการจัดงานปีใหม่ คิดถึงความสนุกในงานกีฬาสี
แม้วันนี้โรงเรียนจะเป็นเพียงตำนานไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ไม่ลบเลือนคือความทรงจำที่ยังคงอยู่ หากคิดถึงโรงเรียน เพียงแค่แวะเวียนไป ทักทายและรื้อฟื้นเรื่องราวให้กลับมา เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้ยังเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง
บรรดาเราเผ่าพันธุ์อันองอาจ ทั้งหญิงชายใจฉกาจชาติไกรสีห์
เคยบุกบั่นฝ่าฟันทุกอย่างมี ไม่เคยหนีย่อท้อต่อสิ่งใด
แม้นมีใครอาฆาตประมาทหน้า จะอาสาเข้าไปหมายชิงชัย
อำนวยวิทย์ไม่มีจิตคิดร้ายผู้ใด เกียรติศักดิ์รักษาไว้ไม่เสื่อมคลาย
อำนวยวิทย์เป็นสถานแห่งการศึกษา เราหญิงชายอบรมมาสมเป็นไทย
เราสนุกไม่มีทุกข์สุขล้นเหลือหลาย แห่งหนใดที่เราไปไร้กังวล
เลือดรักชาติศาสน์กษัตริย์รัฐธรรมนูญ ต่างเพิ่มพูนอยู่ในจิตใจมั่น
เรื่องการเรียนเพียรทำถือสำคัญ เพื่อให้มั่นคงอยู่คู่นคร
ขอบคุณข้อมูล : http://www.hu.ac.th
แหล่งน้ำเลี้ยงชีพ สู่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์สถานที่บนบานศาลกล่าว ณ บ้านหาร(บางกล่ำ)
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 100ชมสถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-ตะวันตก บนอาคารสถานีรถไฟสงขลา
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 173ถ้ำน้ำใส สถานที่ปฏิบัติธรรมและแหล่งรวมจิตในของชาวบ้านสะบ้าย้อย
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 105ย้อนชม...มีดน้ำน้อย ภูมิปัญญาดั้งเดิม ของขึ้นชื่อบ้านน้ำน้อยในอดีต
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 164เปิดประวัติศาสตร์ การก่อร่างสร้างชุมชนบ้านคลองแงะ สะเดา
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 187สักการะหลวงพ่อร้อยปี บูชาท้าวเวสสุวรรณสูงที่สุดในภาคใต้ วัดแช่มอุทิศสงขลา
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 165เหตุอัศจรรย์ระหว่างการก่อสร้าง ธรรมสถานพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาเทียมดา)
12 มกราคม 2568 | 341เปิดตำนาน...ปู่เจ้าเขาเขียวแห่งสิงหนคร
12 มกราคม 2568 | 330