พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) หรือพระปิยะมหาราช กษัตริย์ของประเทศไทยที่ทรงพระปรีชาสามารถพระองค์ อีกทั้งยังเป็นที่รักครองใจประชาชนทั้งชาติอีกด้วย ส่วนหนึ่งมาจากการที่พระองค์ทรงใกล้ชิดกับประชาชน พระองค์เสด็จประพาสไปยังท้องถิ่นต่างๆในประเทศไทย เพื่อดูแลทุกข์สุขของราษฏร์ของพระองค์ เฉกเช่นเดียวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 "สงขลา" เป็นอีกหนึ่งเมืองที่พระองค์ทรงเสด็จมาเป็นประจำ จากหลักฐานการบันทึก พระองค์เสด็จประพาสสงขลาถึง 10 ครั้งด้วยกัน ทั้งก่อนขึ้นครองราชย์และหลังขึ้นครองราชย์ แต่วันนี้หาดใหญ่โฟกัส จะหยิบยกเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสยังเมืองสงขลา หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ทั้ง 8 ครั้ง
ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2414) พระองค์เสด็จเมืองสงขลาในขากลับจากการเสด็จประพาสอินเดีย โดยพระองค์เสด็จขึ้นบกที่เมืองไทรบุรี (ปัจจุบันคือ รัฐเกอดะฮ์ มาเลเซีย) พระองค์เสด็จพระราชดำเนินตามถนนไทรบุรี (กาญจนวนิช) สู่เมืองสงขลา กล่าวได้ว่าพระองค์คือพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนไทรบุรี เมื่อถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้มาลงเรือพระที่นั่งเสด็จกลับสู่พระนคร
ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2431) คราวที่พระองค์เสด็จประพาสแหลมมลายูทางชลมารถ ระหว่างทางเสด็จพระองค์ทรงแวะประพาสเมืองและเกาะต่างๆ ทั่วพื้นที่ภาคใต้ อาทิ เกาะเหล็ก เมืองชุมพร เกาะช่องอ่างทอง เกาะสมุย เกาะพงัน น้ำตกธารเสด็จ แหลมตะลุมพุก จนมาถึงปากอ่าวเมืองสงขลา ตลอดเส้นทางพระราชดำเนินของพระองค์ พระองค์ได้ไถ่ถามทุกข์สุขจากประชาชนอยู่ตลอด โดยการเสด็จในครั้งนี้ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุไว้ดังนี้ "...วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ เวลาเช้า 4 โมง 25 นาที ถึงปากน้ำเมืองสงขลา ทอดเรือพระที่นั่งหลังเกาะหนูห่างฝั่ง 60 เส้นเศษ หลวงวิเศษภักดีผู้ช่วยเมืองสงขลาลงมา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเรือพระที่นั่ง กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาวิเชียรคีรี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาป่วยเป็นฝีอรรคเนสันมาแต่เมืองแขก กลับมาถึงสงขลาได้ 4 วัน..ถึง อนิจกรรม เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบกประทับแรมที่ค่ายหลวง ที่แหลมทราย เมืองสงขลา เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จโดยทางชลมารคไปขึ้นท่าหน้าจวนเมืองสงขลา..." การเสด็จประพาสของพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายัง วัดมัชฌิมาวาส ทะเลสาบสงขลา ปากช่องแหลมทราย ป้อมเขาแดง ป้อมค่ายม่วง เกาะยอ ช่องเขาเขียว ปากจ่า และเกาะต่างๆในทะเลสาบสงขลา จนถึงเมืองพัทลุง พระองค์ยังเสด็จขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์บนเขาตังกวนอีกด้วย
ครั้งที่ 3 (พ.ศ.2433) ครั้งนี้พระองค์เสด็จมาเฉพาะตัวเมืองสงขลา และวัดมัชฌิมาวาสเท่านั้น
ครั้งที่ 4 (พ.ศ.2439) คราวที่พระองค์เสด็จกลับจากเกาะชวา ได้เสด็จที่วัดมัชฌิมาวาส ซึ่งเป็นวัดโบราณที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้งที่ประพาสสงขลา จนภายหลังวัดแห่งนี้ถูกยกฐานะจากวัดราษฏร์เป็นวัดหลวงชั้นตรี และเป็นอารามหลวงแห่งเดียวในเมืองสงขลา
ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2441) พระองค์เสด็จขึ้นบนเขาตังกวน เพื่อประทับพักผ่อนพระอิริยาบถบนศาลาที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ทรงนมัสการเจดีย์บนยอดเขา และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างประภาคารบนเขาตังกวนเมื่อปี พ.ศ.2440 อีกทั้งพระองค์ได้ประทับรถม้าพระที่นั่งถึงสวนพระยาวิเชียรคีรีที่สวนวัฒฑีวัน หรือสวนตูลในปัจจุบัน
ครั้งที่ 6 (พ.ศ.2443) พระองค์เสด็จเมืองสงขลาและวัดมัชฌิมาวาส การเสด็จประพาสครั้งนี้ พระยาสงขลา (ชม) ได้มีการสร้างถนนรับเสด็จ ตั้งแต่บริเวณหน้าศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลาในปัจจุบัน) จนถึงแหลมทราย พระองค์จึงพระราชทานนามถนนสายนี้ว่า "ถนนวิเชียรชม" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สร้าง
ครั้งที่ 7 (พ.ศ.2444) พระองค์เสด็จประพาสชวาครั้งที่ 3 โดยเรือพระที่นั่งทอดสมอที่เกาะหนู พระองค์พระราชทานเงินสำหรับปฏิสังขรณ์สุเหร่า พระองค์เสด็จไปตามถนนสายในถึงวัดมัชฌิมาวาส ผ่านวัดดอนแย้ วัดเลียบ ตลาดริมน้ำ ฯลฯ พระองค์เสด็จเยี่ยมเยือนราษฏร์ในเมืองสงขลา ณ จุดต่างๆ เมื่อเสร็จสิ้นพระราชกิจ ก็ลงเรือพระที่นั่งหน้าจวน และเสด็จนิวัตพระนคร
ครั้งที่ 8 (พ.ศ.2448) การประพาสครั้งนี้ พระองค์เสด็จไปถึงอำเภอสทิงพระ และเสด็จพระราชดำเนินทรงสดับปกรณ์พระศพพระยาสงขลา ทอดพระเนตรเห็นศาลเจ้าจีน และถนนตัดใหม่ระหว่างเขาตังกวน และเขาน้อย
จากการเสด็จประพาสเมืองสงขลาของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังการครองราชย์ถึง 8 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงโปรดปรานเมืองสงขลาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเขาตังกวนและวัดมัชฌิมาวาส
**ถนนไทรบุรีสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4
**ระยะ 1 เส้น มีค่าเท่ากับ 40 เมตร
**ไทรบุรี คือ รัฐเคดาห์หรือรัฐเกอดะฮ์
CR: จดหมายเหตุกรุงศรี / อาจารย์อเนก นาวิกมูล / กิมหยง
เหตุอัศจรรย์ระหว่างการก่อสร้าง ธรรมสถานพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาเทียมดา)
12 มกราคม 2568 | 227เปิดตำนาน...ปู่เจ้าเขาเขียวแห่งสิงหนคร
12 มกราคม 2568 | 195ในหลวงรัชกาลที่9 กับการพัฒนาจังหวัดสงขลา
12 มกราคม 2568 | 214ย้อนประวัติจวนเจ้าเมืองสงขลา สมัยธนบุรี - รัตนโกสินทร์
5 มกราคม 2568 | 207พาชมพระสยามเทวาธิราชจำลอง 1 ใน 5 หัวเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
5 มกราคม 2568 | 247คนสงขลากับความเชื่อเรื่องทวด ที่ปรากฎในโองการทวดอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์จังหวัดสงขลา
5 มกราคม 2568 | 260ศาลาทวดสะบ้าย้อย ความศรัทธาสู่สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวสะบ้าย้อย
15 ธันวาคม 2567 | 374ที่มา...ชื่อบ้านสำนักขาม (สะเดา)
15 ธันวาคม 2567 | 325