ตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า ได้เวลารวมแก๊ง จุดมุ่งหมายอยู่ที่ปลายนา หาลูกคลัก ปีนต้นยางโชว์สกิลความโลดโผน แต่ชำนาญแค่ไหนก็ต้องมีพลาดกันบ้าง ดังสำนวน สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ซึ่งยอดนักสู้อย่างพวกเราก็มิหวั่น หยิบเอาสมุนไพรใกล้ตัวมาเพื่อเอาตัวรอดในสนามรบให้จงได้
ที่เกริ่นมาเสียยาว ไม่ใช่อะไรหรอก จริง ๆ คือจะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความซุกซนของตัวเองในวัยเด็กที่มีบาดแผลตามร่างกายเป็นสิ่งบ่งบอกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแค่ไหน ตอนเด็กจำได้ว่าซนยิ่งกว่าลิง เวลาบาดเจ็บมีแผล ยายจะสั่งว่าห้ามร้องไห้ ถ้าไปเล่นแล้วเจ็บ ร้องไห้กลับมา จะตีซ้ำ ดังนั้น เมื่อมีแผลหรือเลือดตกยางออก ก็ต้องรักษาเยียวยาเอาตัวรอดเอง
เมื่อได้รับบาดเจ็บ เลือดตกยางออก ก็หยิบสมุนไพรยอดฮิตจากคันนา อย่างใบขี้ไก่ (ที่อื่นเขาเรียกสาบเสือ แต่บ้านผู้เขียนเรียกขี้ไก่) ชื่อก็ออกจะเหม็น ๆ แต่ถ้าเลือดไหลเมื่อไร เด็ดใบขี้ไก่มาขยี้กับน้ำบ่อน้อยปิดแผล (ความรู้ที่บอกต่อ ๆ กันมา จริง ๆ ใช้น้ำสะอาดจะดีกว่านะ) รับรองเลือดหยุด
ต้นขี้ไก่ เขาบอกว่ามันเป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง เข้าสู่อินเดีย พม่า แล้วก็กระจายเข้ามาในไทย มาไกลเลยนะเนี้ย ซึ่งจัดเป็นไม้ล้มลุก โตมาก ๆ ก็จะแตกกิ่งก้านสาขา จนเป็นพุ่ม และลำต้นปกคลุมด้วยขนนุ่มอ่อน ๆ ใบหรือส่วนที่เรานำมาประคบแผลนั้นจะเป็นสีเขียวอ่อน รูปสามเหลี่ยม ส่วนปลายของใบจะแหลมมีขนปกคลุม เมื่อนำมาขยี้จึงได้กลิ่นสาบเหมือนกลิ่นเสือ คนก็เลยเรียกใบสาบเสือ แต่บ้านเราคงได้กลิ่นเหมือนขี้ไก่แน่ ๆ เลย จึงเรียกใบขี้ไก่ ต้นขี้ไก่มีดอกและผลด้วยนะ ดอกจะมีสีขาวหรือฟ้าอมม่วง มีผลขนาดเล็กเป็นห้าเหลี่ยม สีดำหรือน้ำตาล
สรรพคุณของขี้ไก่มีเยอะมาก ไม่ได้ขี้ ๆ ตามชื่อนะ นอกจากจะช่วยห้ามเลือดแบบที่เราเคยรู้มาบ้างในเด็ก ๆ ใบขี้ไก่ ยังช่วยลดอาการเจ็บคอ ต้านการอักเสบของแผล แก้ริดสีดวง แก้วตาฟาง บรรเทาอาการไข้ ลำต้น เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ดอกใช้เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย และบำรุงหัวใจ นอกจากนี้ต้นขี้ไก่ยังใช้เป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้ง ถ้าหากอากาศไม่แล้ง ต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอกนั่นเอง
ปัจจุบันผู้เขียนแทบไม่เห็นต้นสาบเสือแล้ว อาจด้วยความเจริญที่เข้ามาถึงชุมชน จากคันนากลายเป็นยางมะตอย ต้นสาบเสือก็เลยหายไปตามคันนาที่กลายเป็นยางมะตอย
ขอบคุณข้อมูล : Puechkaset , medthai
ภาพ : Wikimedia , .samunpri
เหตุอัศจรรย์ระหว่างการก่อสร้าง ธรรมสถานพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาเทียมดา)
12 มกราคม 2568 | 143เปิดตำนาน...ปู่เจ้าเขาเขียวแห่งสิงหนคร
12 มกราคม 2568 | 146ในหลวงรัชกาลที่9 กับการพัฒนาจังหวัดสงขลา
12 มกราคม 2568 | 156ย้อนประวัติจวนเจ้าเมืองสงขลา สมัยธนบุรี - รัตนโกสินทร์
5 มกราคม 2568 | 186พาชมพระสยามเทวาธิราชจำลอง 1 ใน 5 หัวเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
5 มกราคม 2568 | 182คนสงขลากับความเชื่อเรื่องทวด ที่ปรากฎในโองการทวดอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์จังหวัดสงขลา
5 มกราคม 2568 | 214ศาลาทวดสะบ้าย้อย ความศรัทธาสู่สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวสะบ้าย้อย
15 ธันวาคม 2567 | 329ที่มา...ชื่อบ้านสำนักขาม (สะเดา)
15 ธันวาคม 2567 | 287