หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

หนมลา หลาเปรต สารทเดือนสิบ
23 สิงหาคม 2560 | 25,850

วันสารทถือเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณและเป็นการทำบุญกลางปีของไทย ตรงกับวันสิ้นเดือนสิบ หรือ วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เดิมทีประเพณีสารทเดือนสิบนี้เป็นของพราหมณ์มาก่อน เมื่ออิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาในหมู่คนไทยทางภาคใต้ที่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีวันสารทเดือนสิบจึงเกิดขึ้น

การทำบุญวันสารท
เป็นการทำบุญของชาวไทยภาคใต้เป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับ อาจจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่า เปรต จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ มีการทำบุญในสองครั้ง แต่จะนิยมทำในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบมากกว่า ซึ่งเรียกกันว่าเป็นประเพณีทำบุญเดือนสิบ ประเพณีทำบุญวันสารท (ประเพณีการตั้งเปรตและชิงเปรต) เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวภาคใต้ โดยทำร้าน จัดหมรับ อาหารคาวหวาน ไปวางเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตชน (ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว) และที่ไม่มีญาติด้วย

การตั้งเปรตและชิงเปรต

จะทำในวันที่ยกหมรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เดือนสิบก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรต ส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดหน่อย ขนมที่ไม่ค่อยขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู (ขนมเมซำ เบซำ หรือดีซำ) ขนมไข่ปลา ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย ธูปเทียน นำลงจัดในหมรับ เอาของแห้งดังกล่าวรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอกปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นใดแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนั้นนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำหมรับที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บน ร้านเปรต ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง

ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียกว่า "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรม สวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้

จากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "ชิงเปรต" ผู้ที่มาร่วมทำบุญ ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตนั้นด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่าการแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่งนัก และขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนาจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อจะให้มีผลดก

ร้านเปรต อีกลักษณะหนึ่ง คือ จัดสร้างขึ้นในบริเวณวัด ไม่ห่างไกลจากร้านเปรตกลางวัดเท่าใดนัก ใช้ลำต้นของไม้หมาก ไม้ไผ่ หรือไม้หลาโอน (หลาวชะโอน) ยาวประมาณ 3 เมตร เอาเปลือกหยาบภายนอกตบแต่งให้ลื่น ถ้าเป็นไม้ไผ่ มักใช้ไม้ไผ่ตงเพราะลำใหญ่ ไม่ต้องเอาผิวออก เพียงแต่เกลาข้อออกแล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมจนทั่วเพื่อเพิ่มความลื่นให้มากขึ้น เอาโคนเสาฝังดิน ปลายเสาใช้ไม้ทำแผงติดไว้ พร้อมกับผูกเชือกไว้ใต้แผงปลายเชือกผูกขนมต่าง ๆ ของเปรตห้อยไว้ จัดให้บุตรหลานของเปรตปีนขึ้นไปชิงขนมเหล่านั้นแทนเปรต ใครปีนขึ้นไปชิงได้มากก็ให้รางวัลมาก ได้น้อยให้รางวัลน้อยลดลงตามส่วน

การปีนเสาขึ้นชิงเปรตนี้ จะกระทำหลังจากร่วมชิงกันที่ร้านเปรตแล้วเสาที่ทำดังกล่าวก็ถือกันว่าเป็นร้านเปรตอีกชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีเสาเดียวและอยู่สูง ขึ้นชิงได้เพียงครั้งละคน ไม่เหมือนกับร้านเปรตเตี้ย ๆ ซึ่งไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปและเข้าชิงได้พร้อมกันหลัง จากนั้นก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทานโดยใช้เหรียญสตางค์โยนตรงไปยังฝูงชน เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างสนุกสนาน

ยังมีเปรตชนอยู่อีกพวกหนึ่งซึ่งมีบาปหนา ไม่กล้าเข้าไปรับอาหารที่ลูกหลานเอาไปวางไว้ให้บนร้านเปรตในเขตวัด ได้แต่เลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่ริมรั้วชายวัด บรรดาลูกหลานทั้งหลายจึงได้นำอาหารขนมดังกล่าวไปตั้งเปรตกันนอกเขตวัด เป็นการตั้งเปรตแบบวางกับพื้นดิน ตั้งให้เปรตชนบนพื้นดิน พื้นหญ้าหรือตามคาคบไม้เตี้ย ๆ เมื่อตั้งเปรตแล้วลูกหลานอาจแย่งชิงกันก็เป็นอันเสร็จสิ้นการชิงเปรตสำหรับปีนั้น บรรดาเปรตชนทั้งหลาย ก็ได้รับส่วนบุญซึ่งลูกหลานอุทิศให้และชิงให้ แล้วกลับไปสู่เปรตภูมิ คอยโอกาสจะได้กลับมาพบกับลูกหลานอีกในวันชิงเปรตปีต่อไป

ส่วนที่ขาดไม่ได้ของงานบุญเดือนสิบ คือ ขนม 5 ชนิด ได้แก่ ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู ขนมกง และขนมลา ซึ่งวันนี้เราจะกล่าวถึง ขนมลากัน ประวัติความเป็นมาของขนมลา เป็นหนึ่งในขนม 5 ชนิด ที่ชาวใต้จะนำไปทำบุญในช่วงเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า "บุพเปตพลี" มีความเชื่อว่า บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อาจจะตกไปอยู่ในภพภูมิที่ดี หรือภพภูมิที่เจอแต่ความยากลำบาก ต้องชดใช้วิบากกรรม ดังนั้น เทศกาลบุญสารทเดือนสิบจึงเปรียบเสมือนตัวแทนขนส่งบุญกุศล อาหาร เครื่องดื่ม และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนอาหารและแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพให้วิญญาณบรรพบุรุษใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า ให้วิญญาณบรรพบุรุษใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์ ขนมกง หรือขนมไข่ปลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ และขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอยในภพภูมิที่วิญญาณบรรพบุรุษอยู่

อีกนัยหนึ่งขนมลาก็เป็นเส้นสายทับกันไปมาจนเหนียวแน่น คล้าย ๆ สายใยถักทอความผูกพันของบรรดาญาติพี่น้อง ให้สมัครสามัคคีรักใคร่กันกลมเกลียว เรียกได้ว่าทั้งได้รับความอร่อย และกระชับความสัมพันธ์คนในครอบครัวให้แนบแน่นตอลดเวลาที่ร่วมกันทำขนมลาด้วยจะเห็นได้ว่าประเพณีสารทเดือนสิบของชาวใต้เรานั้น ไม่เพียงสอนให้คนรู้จักการเข้าวัดเข้าวาเท่านั้น ยังสอนให้คนเป็นคนกตัญญูต่อบรรพบุรุษทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและที่ยังมีลมหายใจอยู่ สอนให้รู้จักการบริจาคทาน เปิดโอกาสให้สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมได้สานความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น

ขอบคุณเนื้อหา : tungsong.com , kapook

ขอบคุณภาพ : ครูจรรย์จารีย์ เภรีฤกษ์ , shingpled , pantip , Thaigoodview ,

เรียบเรียง : HatyaiFocus

เรื่องที่เกี่ยวข้อง