เมืองสงขลา เป็นเมืองที่มีความสำคัญ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีการตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานมานานกว่า 5,000 ปี มีการพัฒนาการเมืองสงขลาออกเป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคชุมชนโบราณ ยุคสมัยอยุธยา-ธนบุรี ยุครัตนโกสินทร์ และการบริหารจังหวัดสงขลาถึงยุคปัจจุบัน
แม้จะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแต่เมืองสงขลาก็ยังคงความสำคัญในฐานะเมืองที่มีความเจริญด้านการค้าระหว่างประเทศและเป็นหัวเมืองชั้นเอกความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศชาติมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ในวันที่ 10 มีนาคม 2568 นับได้ครบ 183 ปี ของเมืองสงขลาที่ได้ย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสนมาอยู่ฝั่งบ่อยาง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 หัวเมืองสงขลามีการพัฒนาตัวเอง มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งนี้มีผลมาจากการสลายหัวเมืองทั้งเจ็ดของปัตตานีมาเป็น เมืองบริวารของสงขลา ผนวกกับมีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองสงขลาทำให้ประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการน้ำจืดไม่เพียงพอ และเมืองสงขลาที่แหลมสนมีลักษณะทางสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบเชิงเขาคับแคบไม่เหมาะในการพัฒนาเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ได้ จึงได้ย้ายเมืองสงขลามาตั้งที่ฝั่งบ่อยางซึ่งมีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นทรายราบเรียบกว้างขวาง สามารถสร้างบ้านเรือนให้เป็นกลุ่มก้อนได้ การพัฒนาเมืองสงขลาก็เพิ่มขึ้นมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 จังหวัดสงขลาได้มีประกาศจังหวัดสงขลา เรื่อง กำหนด “วันสงขลา” โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดวันสงขลา ที่มีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และได้ประชุมร่วมกับ ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันว่าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เรื่องราวประเพณี วัฒนธรรม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานของเมืองสงขลาในอดีต และในพงศาวดารที่ได้มีการระบุความตอนหนึ่งว่า “ครั้น ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลาเช้า ๙ โมง ๑ กับ ๑๐ นาที ได้ฤกษ์ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ ได้เชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา เป็นเสาหลักเมือง มีปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งตามปฏิทินสุริยคติตรงกับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385 และชาวสงขลาได้จัดงานสมโภช หลักเมืองเป็นประจำทุกปี จึงเห็นควรกำหนดให้วันที่ 10 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสงขลา”
จังหวัดสงขลา กำหนดจัดงานวันสงขลา ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 นับถึงปีปัจจุบันพ.ศ.2568 เป็นการจัดงานวันสงขลา ปีที่9 โดยในทุกปีจะมีกิจกรรมหลากหลายที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวสงขลา ประกอบด้วยการทำบุญบรรพชนคนสงขลา พิธีสมโภชเสาหลักเมืองสงขลา พิธีเวียนเทียน ณ พระธาตุเจดีย์หลวงเขาตังกวน หมู่บ้านวัฒนธรรมและการแสดงวิถีชีวิต 16 อำเภอ การแสดงมหรสพพื้นบ้าน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 16 อำเภอ จังหวัดสงขลา
จังหวัดสงขลาจึงมีวันประจำจังหวัดตรงกับวันที่ 10 มีนาคมของทุกปีเรื่อยมา แสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาที่ยาวนานของเมืองสงขลา อัตลักษณ์เฉพาะจังหวัด มองเห็นการดำรงวิถีชีวิตประเพณีและวัฒนธรรมของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือวันสงขลา-สงขลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน
พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 66เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 79ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 389เรื่องเล่าจากความทรงจำบ้านท่าแช สู่ตำบลคลองอู่ตะเภาในปัจจุบัน
2 มีนาคม 2568 | 306ความรู้คู่การเวลา...ศึกษาหนังสือบุดโบราณ ณ วัดยางทอง(สะเดา)
2 มีนาคม 2568 | 299รอยศรัทธาเส้นทางละสังขารหลวงปู่ทวด สู่การสร้างเจดีย์ชัยมงคลโพธิสัตโต บนยอดเขาชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ บ้านประกอบ
23 กุมภาพันธ์ 2568 | 232ศรัทธาบารมี หลวงพ่อแปลง วัดควนลัง
23 กุมภาพันธ์ 2568 | 391องค์ปู่ฤาษี...สัญลักษณ์ของอำเภอควนเนียง ประติมากรรมที่ผู้คนให้ความเคารพและเลื่อมใสศรัทธา
23 กุมภาพันธ์ 2568 | 332