หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

"ครูทอง" ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้สืบทอดภูมิปัญญาการปั้นหม้อยาวนานกว่า 100 ปี ของบ้านสทิงหม้อ อ.สทิงพระ
24 มีนาคม 2568 | 2,947

ตำบลสทิงหม้อ เป็นตำบลหนึ่งในอ.สทิงพระ จ.สงขลา จุดเด่นของตำบลสทิงหม้อในอดีตคือเป็นแหล่งการทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนมีการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลัก ทั้งทำเพื่อใช้สอยในครัวเรือน ทำเพื่อการค้าขาย โดยเครื่องปั้นดินเผาจากบ้านสทิงหม้อมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก โดยจะมีพ่อค้าคนกลางที่เดินเรือเข้ามารับถึงแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผาในตำบลสทิงหม้อ และนำออกไปขายยังที่ต่างๆจนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

นางพรพรรณ เกษตรสุนทร หรือ ครูทอง ทายาทผู้สืบทอดเครื่องปั้นดินเผาบ้านสทิงหม้อ รุ่นที่ 3 ปัจจุบันเป็นครูผู้ดูแลเด็กที่ศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนวัดโลการาม และมีอาชีพเสริมทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ 

ครูทองช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของการทำเครื่องปั้นดินเผาของบ้านสทิงหม้อหน่อยค่ะ สมัยก่อนได้มีชาวจีน ได้อพยพมาจากเมืองจีนและมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสทิงหม้อ และเริ่มมีการทำเครื่องปั้นดินเผากันมาเรื่อยๆ จากทำแค่ 1 ครัวเรือนก็กลายเป็นทำกันทุกครัวเรือน ซึ่งผู้คนก็จะยึดการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันเกือบทุกหลังได้มีการเกทำกันไปแล้วด้วยเหตุปัจจัยหลายๆอย่าง ทำให้ในปัจจุบันเหลือเพียงแค่บ้านครูทองแค่เพียงแห่งเดียวที่ยังคงการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมไว้

ครูทองเป็นทายาทผู้สืบทอดการทำเครื่องปั้นดินมารุ่นที่เท่าไหร่คะ ครูทองเป็นทายาทรุ่นที่ 3 โดยรุ่นแรกจะเป็นรุ่นแม่เฒ่าพ่อแม่เฒ่าของครูทอง (นายเกลี่้ยง-นางพร้อม) เป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มการทำเครื่องปั้นดินเผา ต่อมาทายาทรุ่นที่2 เป็นรุ่นคุณแม่ของครูทอง(นางปลื้มใจ เกษตรสุนทร) และรุ่นครูทองถือเป็นรุ่นที่ 3 ในการทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผา

แล้วในอนาคตจะมีทายาทรุ่นที่4 มาสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาต่อไหมคะ ก็อยากให้มีทายาทสืบทอดต่อไป ครูทองก็พยายามที่จะสอนอาชีพให้กับหลานว่าหากใครสนใจในการทำอาชีพนี้ก็จะสอนให้ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานหากเป็นเด็กในหมู่บ้านหรือชุมชนที่สนใจและอยากประกอบอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นหลัก ครูทองก็ยินดีที่จะสอนและให้ความรู้เพื่อให้อาชีพนี้ยังคงอยู่และไม่หายไป

การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านสทิงหม้อจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมแล้วอายุกี่ปีคะ ถ้านับเป็นปีก็คงจะไม่แน่ชัดแต่ที่พอจะประมาณได้ว่ามากกว่า 100 ปี ซึ่งการเริ่มทำเครื่องปั้นดินเผาก็เริ่มต้นมาพร้อมๆกับการตั้งหมู่บ้านสทิงหม้อ เพราะสมัยก่อนท่าน้ำของบ้านสทิงหม้อเป็นท่าคลองเรือสินค้า ซึ่งการเดินทางในสมัยก่อนจำเป็นต้องเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก บริเวณบ้านสทิงหม้อก็มีพ่อค้าเดินเรือมารับเครื่องปั้นดินเผาเพื่อส่งออกไปขายหลายๆจังหวัด เช่น พัทลุง นครศรีธรรมราช ทำให้บ้านสทิงหม้อเป็นที่รู้จักในนามแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดี และส่งผลให้บ้านสทิงหม้อได้รับความเจริญขึ้นมาตามลำดับ

ครูทองมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสทิงหม้อ จากอดีตจนถีงปัจจุบันอย่างไรบ้างคะ การทำเครื่องปั้นดินเผาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ความต้องการในการใช้สอยของผู้คนก็ลดน้อยลงไป คนในชุมชนจากที่มีอาชีพหลักคือการทำเครื่องปั้นดินเผาก็ออกไปหางานทำที่อื่นเพื่อมาช่วยเหลือจุนเจือคนในครอบครัว เนื่องจากความต้องการและตลาดในการขายสินค้าเหล่านี้แทบจะไม่มี จากที่ทุกบ้านใช้หม้อปั้นดินเผาในการใช้สอยภายในครัวเรือน ปัจจุบันก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปจนแทบจะไม่มีใครใช้แล้ว มีแค่เครื่องปั้นดินเผาบางชนิดอย่างเช่นกระถางต้นไม้ หม้อจิ้มจุ่ม ที่ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่บ้าง ในด้านของการทำก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยทุ่นเวลา โดยเมื่อก่อนจะเป็นแป้นที่ใช้มือในการหมุน จะมีคนหมุนแป้น 1 คน และคนปั้น 1 คน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นแป้นหมุนไฟฟ้า จะได้มีความสะดวกมากขึ้น

ดินที่นำมาใช้ในการทำเป็นดินที่มาจากที่ไหนคะ ถ้าในสมัยก่อนจะเป็นดินที่นำมาจากบ้านปากรอ อ.สิงหนคร ซึ่งเป็นดินที่มีคุณภาพดีกว่าที่ แต่ปัจจุบันเมื่อมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีการเปลี่ยนมาเป็นรับดินจากจังหวัดนครศรีธรรมราชแทน ซึ่งเป็นดินที่สำเร็จมาเลย แค่นำมานวดเอากรวดออกก็สามารถเอาขึ้นแป้นหมุนและปั้นได้เลย 

ต้องผ่านกรรมวิธีอะไรบ้างคะกว่าจะออกมาเป็นหม้อแบบสำเร็จ 1 ชิ้น ขั้นตอนแรกจะนำดินเหนียวมาผสมกับทราย(ดิน 8 ส่วน ทราย 2 ส่วน) นำมาเหยียบผสมไปมา 4 ครั้ง แล้วจึงนำมานวดให้เป็นก้อนๆ ก่อนจะนำมาขึ้นแป้นหมุนเพื่อทำการปั้นเป็นหม้อแบบต่างๆ ก่อนจะนำมาตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆแล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน ถึง 1 เดือนแล้วแต่ขนาดของหม้อ แล้วจึงนำไปเข้าเตาเผา โดยจะใช้วิธีเผาแบบโบราณดั้งเดิมมีการใส่ไม้สุมไฟตลอด 2 วัน 1 คืน หลังจากนำออกจากเตาเผาก็จะทิ้งไว้ 1 วัน จึงจะนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายทั่วภาคใต้ 

เอกลักษณ์ของหม้อบ้านสทิงหม้อคืออะไรคะ เอกลักษณ์ของหม้อบ้านสทิงหม้อที่ไม่มีเหมือนกับที่อื่นคือ หม้อไม่มีก้น โดยจะมีการปั้นหม้อขึ้นมาก่อน และจะนำมาตีปิดก้นในภายหลัง โดยจะมีลูกถือที่ใส่ด้านในหม้อเพื่อใช้ถือเวลาตีก้นหม้อให้ปิดเข้าหากัน โดยจะมีการใช้ไม้ตีในการตีปิดก้นหม้อ ซึ่งที่ไม้ตีก็จะมีลวดลายแตกต่างกันไป โดยหม้อที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านสทิงหม้อมีด้วยกัน 4 แบบ คือ 1.เพล้ง ลักษณะมีกุ้น รูปทรงฐานกลมกว้าง มีคอ มีปากเพล้ง  มีฝาที่มีตุกครอบปากเพล้ง ไว้นำไปใส่น้ำ ใส่ข้าวสาร 2.หม้อ มีทรงเตี้ย มีฝาปิด มักใช้ปรุงอาหาร หุงข้าว หรือเป็นหม้อใส่ต้มยำ หรือใส่น้ำมนต์ 3.สวด ลักษณะรูปทรงฐานกลมกว้าง มีเอว มีตัว มีปากสวด ไว้ใช้ในการหุงข้าวเหนียว 4.อ่าง ไว้ใช้สำหรับใส่ล้างปลา , อาบน้ำเด็กเล็ก

หัวใจสำคัญในการปั้นหม้อของครูทองคืออะไรคะ ครูทองอยู่กับหม้อกับการปั้นเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็กๆเลยรู้สึกผูกพันธ์ในอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อเฒ่าแม่เฒ่า และเรามีใจรักและตั้งใจจริงในการทำอาชีพนี้ เลยไม่อยากทิ้งอาชีพนี้ให้หายไปตามกาลเวลา จนในปัจจุบันการทำเครื่องปั้นดินเผาของบ้านครูทองกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนให้การให้ความรู้และถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจอยากปั้นเครื่องปั้นดินเผา แและครูทองรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพนี้ เพราะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ช่วยเลี้ยงดูครอบครัว และทำให้ครูทองสามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน

ปัจจุบันมีคนเข้ามาเรียนรู้และทดลองปั้นเครื่องปั้นดินเผาเยอะไหมคะ ตอนนี้เยอะมาก มีคนสนใจเข้ามาลองทำกันเยอะ โดยเฉพาะเมื่อได้รับอิทธิพลจากอินเตอร์เน็ตคนก็จะมีการมาทำคอนเท้นต์ถ่ายไปลงในช่องทางอื่นๆ คนก็จะตามกันมา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนนักศึกษาที่มาเพื่อลองทำและหาข้อมุลเมื่อนำไปประกอบการเรียนต่างๆ 

สุดท้ายครูทองมีอะไรอยากเสริมหรือฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ไหมคะ ก็อยากฝากอาชีพในการทำเครื่องปั้นดินเผาของสทิงหม้อ อยากให้เด็กรุ่นหลังกลับมาเรียนรู้เราไม่จำเป็นต้องทำเพียงแค่รูปแบบเดิมๆ แต่สามารถประยุกต์และทำรูปแบบใหม่ๆได้เสมอ ก็อยากให้การทำหม้อสืบทอดต่อไปเรื่อยๆไม่อยากให้มีการทิ้งหม้อเหมือนกับชื่อหมู่บ้าน แต่ให้การทำหม้ออยู่คู่และยึดติดกับบ้านสทิงหม้อต่อไปอีกนาน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง