หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

วิถีชีวิต

“เชือกกล้วยตานี” จากของเหลือทิ้ง สู่ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้ชุมชนคูเต่า ภายใต้ชื่อ “กอร์ตานี”
19 มีนาคม 2568 | 3,585

หลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ที่ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกกล้วยตานีจำนวนมาก โดยชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปลูกกล้วยตานีไว้ในบริเวณบ้านเพื่อจำหน่ายใบกล้วยสร้างรายได้เสริม เนื่องจากใบกล้วยตานีมีความเหนียวและไม่ฉีกขาดง่าย ทำให้เป็นที่ต้องการของพ่อค้าแม่ค้าสำหรับใช้ห่ออาหารและขนมไทย การปลูกกล้วยใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเพื่อเริ่มตัดใบขาย และสามารถเก็บเกี่ยวใบได้เรื่อยๆ จนกระทั่งต้นกล้วยออกเครือหลังจาก 1 ปี โดยหลังจากนั้นต้นกล้วยจะเริ่มเหี่ยวเฉาและตาย ทำให้ต้องตัดทิ้งเพื่อปลูกต้นใหม่

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในตำบลคูเต่าได้เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้โดยเฉพาะ "กาบกล้วย" ซึ่งมักถูกทิ้งให้แห้งตามธรรมชาติ พวกเขาจึงเริ่มทดลองนำกาบกล้วยมากรีดเป็นเส้นเชือกเพื่อใช้มัดผักและห่ออาหาร และพบว่าเชือกจากกาบกล้วยมีความเหนียว แข็งแรง สามารถนำไปใช้ในงานหัตถกรรมได้ จึงเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วยตานีขึ้น จนกลายเป็นงานฝีมือที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนภายใต้ชื่อ "กอร์ตานี"

ด้าน นางปวีณ์ริศา เกิดสม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา และนางจารุวรรณ จันทร์มา ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้นวัตวิถีชุมชนตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการพัฒนาอาชีพของชุมชน โดยพบว่ากลุ่มวิสาหกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน

ป้าศรีได้เล่าให้เราฟังว่าจุดเริ่มต้นนั้นมาจาก ?

- ป้าศรี หรือนางศรี แก้วปนทอง อายุ 74 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ปลูกกล้วยตานี เล่าถึงประสบการณ์การปลูกกล้วยตานีของครอบครัวที่ได้สืบทอดกันมาจากรุ่นบรรพบุรุษ โดยใบกล้วยตานีมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากใบกล้วยชนิดอื่น ๆ เพราะใบกล้วยตานีมีความเหนียวและไม่ฉีกง่าย ทำให้สามารถนำไปใช้ห่อขนมหรืออาหารได้เป็นอย่างดี ป้าศรียังกล่าวถึงการใช้กาบกล้วย โดยจะเลือกต้นกล้วยตานีที่ออกปลีกล้วยแล้ว จากนั้นนำกาบกล้วยมากรีด และตากแดดให้แห้งประมาณ 5-7 วัน ก่อนจะนำมารีดผ่านเครื่องรีดเชือกเพื่อให้ได้ขนาดเส้นที่ใกล้เคียงกัน แล้วจึงนำไปถักทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การสานและการประดิษฐ์ของใช้ในครัวเรือน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือใช้

ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์แบบไหนบ้าง?

-นางภรกานต์ รุจิประภากร อายุ 46 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนเชือกกล้วยกอร์ตานี กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วยตานีได้รับการพัฒนาด้านการออกแบบให้มีความสวยงามและทันสมัยเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ หนึ่งในจุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือการใช้เชือกสีดำและสีน้ำตาลซึ่งเป็นสีธรรมชาติจากกาบกล้วยชั้นนอก รวมถึงการออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ กระบวนการผลิตยังเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้สีเคมี และทุกชิ้นผ่านกระบวนการอบ UV และเคลือบน้ำยาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและยืดอายุการใช้งาน

ทุกวันนี้มีออเดอรืไกลถึงไหนบ้าง กลุ่มลูกค้า? 

-ผลิตภัณฑ์ของกอร์ตานีได้รับการส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น ลอนดอน เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในประเทศไทย เช่น ภูเก็ต และเกาะสมุย โดยในปัจจุบันสามารถส่งออกสินค้าได้มากกว่า 200 ชิ้นต่อเดือน ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม ได้แก่ กระเป๋าถือและกระเป๋าสะพาย หมวก ตะกร้าสาน ที่รองแก้ว ที่รองจาน กล่องใส่กระดาษทิชชู่ และพรมปูโต๊ะกินข้าว

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของกอร์ตานียังได้รับเกียรติขึ้นทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา แล้วกว่า 200 ชิ้น

ผลิตภัณฑ์ตรงนี้มีความพิเศษจากที่อื่นยังไง ?

-หนึ่งในความพิเศษของกอร์ตานี คือ การตั้งชื่อลวดลายของผลิตภัณฑ์ตามชื่อของผู้สาน เพื่อให้แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การผลิตแต่ละชิ้นใช้เวลา 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของลวดลายและประเภทของสินค้า โดยราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 80 บาท ไปจนถึง 700 บาท ตามขนาดและความละเอียดของงาน ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกอร์ตานีเติบโตจากการเริ่มต้นของครอบครัวเดียวจนมีสมาชิกกว่า 40 ครอบครัวที่ร่วมกันผลิตสินค้าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

อีกอย่างนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน สำหรับใครที่สนใจสั่งซื้อสินค้าสามารถสั่งได้ที่ เพจ เชือกกล้วย กอร์ตานี สนใจติดต่อคุณก้อย 098-2244426

 

ขอบคุณภาพบทความ : ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว - ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง