อาคารสถานีรถไฟสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองจังหวัดสงขลา ถูกสร้างขึ้นหลังจากกรมรถไฟหลวงสายใต้ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เริ่มเปิดบริการรับส่งคนโดยสารและสินค้าในเส้นทางตั้งแต่เมืองสงขลาถึงเมืองพัทลุง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2456 ตในพ.ศ.2465 กรมรถไฟหลวงได้ยกเลิกสถานีชุมทางอู่ตะเภา และปรับเปลี่ยนทางแยกสําหรับไปเมืองสงขลาใหม่ไปอยู่ ณ สถานีชุมทางหาดใหญ่ ทั้งนี้การเดินทางสู่สถานีสงขลาจะผ่านป้ายหยุดรถรายทางรวม 10 แห่ง คือ ตลาดเทศบาล คลองแห คลองเปล เกาะหมี ตลาดน้ำน้อย บ้านกลางนา ตลาดพะวง น้ำกระจาย บ้านบางดาน และวัดอุทัยธาราม และ สิ้นสุดปลายทางที่สถานีสงขลา
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2521 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกการเดินรถมายังสถานีรถไฟสงขลา เนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการลดลงจนไม่คุ้มกับค่าดําเนินการ จึงทําให้สถานีรถไฟแห่งนี้ปิดตัวลงหลังจากนั้น บริษัทมิตรทองจึงขอเช่าพื้นที่โดยใช้พื้นที่ด้านหน้าสถานีเป็นที่จอดรถบรรทุกขนส่งสินค้า และใช้ลานด้านหลังอาคารสถานีเป็นตลาด ในปัจจุบันอาคารสถานีรถไฟสงขลาได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรแล้วเมื่อพ.ศ. 2558
อาคารสถานีรถไฟสงขลาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต ผังอาคารเป็น สี่เหลี่ยมขนานกับรางรถไฟ ช่วงกลางด้านหน้ามีมุขโถงยื่นออกไปและมีทางลาดสําหรับขึ้นลง หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์
จากแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมระบุว่าด้านซ้ายสุดของส่วนสถานีเป็นโถงซื้อตั๋วของผู้โดยสารชั้น 3 ช่วงกลางอาคารเป็นโถงทางเข้า และโถงซื้อตั๋วของผู้โดยสารชั้น 1 และ 2 ช่วงถัดมาเป็น ห้องพักคอยผู้โดยสารชั้น 1 และห้องเก็บอุปกรณ์สําหรับการเดินรถ จํานวน 2 ห้อง ช่วงถัดมาเป็นห้องรับฝากของ ช่วงริมขวาสุดเป็นห้องทํางานผู้ควบคุมการเดินรถ ปัจจุบันพื้นที่โถงซื้อตั๋วของผู้โดยสารชั้น 3 ใช้เป็นร้านขายเครื่องดื่ม พื้นที่ชานชาลาใช้เป็นที่จอดรถจักรยานยนต์ และห้องอื่น ๆ ใช้เป็นสำนักงานของบริษัทมิตรทอง
(ภาพ : Chaiyos Sirirattanaboworn,ภาพสวยสงขลา)
อาคารสถานีรถไฟสงขลาเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเนื่องจากได้รับการออกแบบที่สอดคล้องกับการใช้สอยและสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นในประเทศไทย มีความงามที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบตะวันตกและไทย รวมทั้งความสําคัญทางด้านเศรษฐกิจสังคมที่เคยมีต่อเมืองสงขลา ทําให้ในปีพ.ศ. 2547 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
(ภาพ : Chaiyos Sirirattanaboworn,ภาพสวยสงขลา)
ในปัจจุบัน อาคารสถานีรถไฟสงขลาก็ไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควรทําให้สภาพอาคารโดยทั่วไปอยู่ ในสภาพทรุดโทรม ดังนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาถึง แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาอาคารสถานีรถไฟสงขลาและพื้นที่โดยรอบเพื่อที่จะสามารถรักษาอาคารและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกับคุณค่าทางศิลปกรรม ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม
ภาพ/ข้อมูลบทความ : -สำนักศิลปากรที่11 สงขลา
-ปริญญา ชูแก้ว , อาคารสถานีรถไฟสงขลา มรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของไทย
แหล่งน้ำเลี้ยงชีพ สู่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์สถานที่บนบานศาลกล่าว ณ บ้านหาร(บางกล่ำ)
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 72ถ้ำน้ำใส สถานที่ปฏิบัติธรรมและแหล่งรวมจิตในของชาวบ้านสะบ้าย้อย
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 79ย้อนชม...มีดน้ำน้อย ภูมิปัญญาดั้งเดิม ของขึ้นชื่อบ้านน้ำน้อยในอดีต
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 154เปิดประวัติศาสตร์ การก่อร่างสร้างชุมชนบ้านคลองแงะ สะเดา
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 172สักการะหลวงพ่อร้อยปี บูชาท้าวเวสสุวรรณสูงที่สุดในภาคใต้ วัดแช่มอุทิศสงขลา
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 145เหตุอัศจรรย์ระหว่างการก่อสร้าง ธรรมสถานพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาเทียมดา)
12 มกราคม 2568 | 326เปิดตำนาน...ปู่เจ้าเขาเขียวแห่งสิงหนคร
12 มกราคม 2568 | 311ในหลวงรัชกาลที่9 กับการพัฒนาจังหวัดสงขลา
12 มกราคม 2568 | 333