หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เปิดประวัติศาสตร์ การก่อร่างสร้างชุมชนบ้านคลองแงะ สะเดา
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 2,146

เดิมเทศบาลตำบลคลองแงะถูกยกฐานะ จัดตั้งขึ้นเป็นสุขาภิบาลพังลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยในปี 2499 และในปีพ.ศ.2535 ได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาลที่ประธานกรรมการมาจากการเลือกตั้ง ต่อมาสุขาภิบาลพังลาเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลพังลา ในพ.ศ.2542  และได้เปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลคลองแงะ เมื่อปี 2550 

ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนคลองแงะ พอจะประมวลได้ว่า บ้านคลองแงะก่อร่างสร้างชุมชนอย่างชัดเจน น่าจะมาพร้อมกับการสร้างทางรถไฟสายใต้ คือ พ.ศ. 2452 ซึ่งได้มีการกล่าวถึงบุคคลสำคัญชื่อนายฉีเว่ยโจว ชาวจีนแคะ จากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เข้ามาสัมปทานสร้างทางรถไฟสายใต้ ช่วงเส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ การเข้ามาครั้งนั้น นายฉีเว่ยโจวได้นำแรงงาน ญาติพี่น้องจากรัฐปีนังเข้ามาเพื่อเตรียมการสร้างทางรถไฟจำนวนนึงด้วย เริ่มมีการบุกเบิกพื้นที่ถากถางป่ารกเพื่อทำไร่กาแฟ ปลูกผัก และค้าขาย จนเกิดการขยายตัวขึ้นมาของชุมชนตามลำดับ

ชุมชนคลองแงะ มีที่มาของชื่อ อยู่ 2 ที่มา กล่าวคือ ที่มาแรก เชื่อว่ามาจากคำว่า คังแหวะ ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเรียกมาจากภาษาจีนกลาง ถูกเพี้ยนมาเป็นคลองแงะในที่สุด ที่มาที่ ๒ เชื่อว่าคำว่า คลองแงะ เพี้ยนมาจาก คำว่า คลองแวะ เนื่องจากในพื้นที่มีคลองอู่ตะเภาไหลผ่านซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสัญจร ค้าขายสินค้า มีเรือโดยสารสัญจรเรือเอี้ยมจุ้น ผ่านไปมาอยู่เป็นประจำ

จาก พ.ศ. 2452 เริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ และแล้วเสร็จครบหมดในพ.ศ. 2464 โดยมีสถานีปลายทางอยู่ที่สถานีรถไฟสุหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ในระหว่างนั้นก็ได้มีการสร้างเส้นทางรถไฟชุมชนทางหาดใหญ่- บัตเตอเวิร์ท เพื่อเชื่อมเข้ากับทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันตก รัฐเปอร์ลิส ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านชุมชนคลองแงะ ที่สถานีรถไฟคลองแงะด้วย การก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดการเดินรถระหว่างกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 (ข้อมูลจากการถไฟแห่งประเทศไทย) 

เมื่อเริ่มมีการใช้เส้นทางรถไฟ ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมสัญจรเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ใช้การสัญจรขนส่งทางเรือในลำคลองอู่ตะเภา และเส้นทางถนนสงขลา-ไทรบุรี (ถนนกาญจนวนิชในปัจจุบัน) ทำให้มีความสะดวกสบายในเรื่องการคมนาคมและการขนส่งสินค้ามากขึ้น พ.ศ 2454 มีการสร้างวัดเซียมอิ่มประดิษฐ์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณถนนวังปริง ต่อมาครอบครัว นางกอบกุล รัตนปราการ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 15 ไร่ พ.ศ 2457 ได้มีการแบ่งเขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ จึงยกฐานะบ้านพังลาโดยผนวกเอาชุมชนใกล้เคียงรวมมาถึงชุมชนคลองแงะรวมกันเป็นตำบลพังลา ซึ่งกำนันคนแรกของตำบล คือ ขุนพังลา และหมื่นนันท์ นภารัตน์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชน พ.ศ. 2458-2460

ชาวจีนที่สัมปทานสร้างทางรถไฟอัญเชิญผงธูปและรูปเคารพขององค์ตั่วแป๊ะกงซึ่งแกะสลักด้วยไม้จากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยครั้งแรกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดเซี่ยนอิ่มประดิษฐ์ (วัดกอบกุลรัตนารามในปัจจุบัน) โดยสร้างเป็นศาลเล็กๆ ข้างบ่อน้ำ ไว้ให้ชาวคลองแงะได้สักการบูชา ซึ่งเชื่อกันว่าองค์ตั่วแป๊ะกงเป็นเทพเจ้าที่จะคอยปกปักรักษาให้ชุมชนอยู่เย็น เป็นสุข ค้าขายเจริญรุ่งเรือง เพาะปลูกได้ผลผลิตดี ในช่วงนั้นด้วยแรงเลื่อมใสศรัทธาเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีผู้บริจาคที่ดินจำนวน 100 ไร่ เพื่อสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ขึ้นซึ่ง คือ ศาลาเจ้าแป๊ะกง ซึ่งตั้งอยู่ที่ เลขที่ 6 หมู่ 5 ถนนกาญจนวนิชย์ ตำบลพังลา ซึ่งอยู่ในเขตชุมชนแป๊ะกง-ทุ่งยาว อย่างในปัจจุบัน 

พ.ศ 2460 มีการรวมเอาตำบลปริก ตำบลทุ่งหมอมารวมกับอำเภอเหนือ (ซึ่งชุมชนคลองแงะในอดีตก่อนขึ้นกับตำบลพังลาเป็นชุมชนหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเหนือด้วย) เพื่อยกฐานะเป็นอำเภอสะเดา มีพระภักดีราชกิจเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอสะเดา ทำให้บ้านคลองแงะ ขึ้นกับตำบลพังลา อำเภอสะเดาตั้งแต่นั้นมา พ.ศ 2460 เกิดตลาดแห่งแรกของชุมชนคลองแงะ ชื่อ ตลาดใต้ ต้องอยู่ตรงที่ดินว่างเปล่าตรงข้าวหอฌาปนากิจคลองแงะปัจจุบัน แต่มาราว พ.ศ 2480 ได้มีการปิดตัวลง เนื่องจาก ได้มีตลาดใหม่เกิดขึ้น 

ในปี2461 สร้างทางรถไฟสายชุมชนทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ แล้วเสร็จ และเปิดเดินรถ พ.ศ 2462 มีสถานีรถไฟคลองแงะเกิดขึ้น เกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้นตรงบริเวณหนาแน่นขึ้น พ.ศ 2469 หลังจากมีการสร้างศาลเจ้า ได้มีสร้างวัด เดิมชื่อว่า วัดเซียนอิ่มประดิษฐ์ ถือศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาแห่งที่ 2 ของคนในชุมชน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกอบกุลรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดราษฏร์ธรรมยุติกนิกาย โดยมีองค์หลวงพ่อดำ พระพุทธที่ชาวชุมชนให้ความนับถือเป็นพระพุทธที่อยู่คู่วัดมากตั้งอดีตจนปัจจุบัน และถือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนคลองแงะสืบมา 

ขอบคุณภาพบทความ : เรื่องเก่า เล่าคลองแงะ 康月市史略

เรื่องที่เกี่ยวข้อง