นายปรีชา ศิริวัฒน์ อายุ 47 ปี หรือเป็นที่รู้จักกันในนามช่างนวลควนเนียง ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลป์มาแกะสลักไว้บนผืนหนังวัว อนุรักษ์ไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านของปักษ์ใต้ ผลงานแกะสลักส่วนใหญ่ก็มักสื่อถึงวิถีของภาคใต้ ทั้งวัฒนธรรมหนังตะลุง-โนรา หลวงปู่ทวดที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวภาคใต้ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
ช่างนวลเริ่มทำอาชีพนี้มานานแค่ไหนแล้วคะ ทำไมถึงเลือกทำอาชีพนี้ ก็มีการเริ่มแกะสลักมาตั้งนานแล้วถ้านับรวมปัจุจบันก็คงจะครบ 10 ปีพอดี แต่ก็ไม่ได้ยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก เป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น เนื่องจากตัวผมเรียนจบในด้านศิลปะ ได้ไปเรียนเกี่ยวกับงานศิลปะ และเรามีความรู้เกี่ยวกับการเขียนภาพไทยก็เลยอยากสานต่องานศิลปะพื้นบ้านไม่อยากให้หายไป ประกอบกับเมื่อก่อนพ่อมีอาชีพเป็นช่างแกะสลักรูปหนังตะลุง แต่เนื่องด้วยอายุพ่อที่มากขึ้น ทั้งเรื่องของสุขภาพที่ไม่ค่อยดีทำให้พ่อหยุดแกะสลักไปเพราะเริ่มทำไม่ไหว ผมจึงเข้ามาสานต่องานของพ่อแทน ตอนแรกก็กะว่าจะทำเล่นๆเพราะความชอบ แต่พอทำเข้าจริงๆเริ่มมีคนสนใจ เริ่มมีคนมาหาซื้อและมาสั่งทำผลงานในรูปแบบต่างๆ ผมก็เลยจับจุดได้และกลายมาเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริม
ถือว่าได้รับการถ่ายทอดวิชาส่วนหนึ่งมาจากทางคุณพ่อและความชอบอีกส่วนหนึ่งจนกลายมาเป็นผลงานของช่างนวลใช่ไหมคะ ใช่ครับได้รับการถ่ายทอดจากพ่อก็คงจะเป็นในเรื่องของหนังตะลุงที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่เด็กๆ และผมชอบงานศิลปะอยู่แล้วจึงมีการเรียนในด้านนี้มาโดยตลอด ซึ่งผมเรียนจบระดับปวช.จากวิทยาลัยศิลปะหัตถกรรมนครศรีธรรมราช และจบระดับปวส.จากวิทยาลัยเพาะช่าง เอกจิตรกรรมไทย (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพฯ) เมื่อเรียนจบและมีความชอบในด้านศิลปะจึงมีการนำมาดัดแปลงสร้างสรรค์ผลงานเป็นรูปแบบต่างๆขึ้นใหม่จนเป็นผลงานที่เห็นดังกล่าว
รูปแกะสลักที่ช่างนวลเคยแกะสลักมามีรูปอะไรบ้างคะ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็จะเป็น รูปฤาษี รูปหลวงพ่อทวด รูปหนังตะลุง ส่วนที่เหลือก็มักจะเป็นงานตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งทำกันเข้ามา ที่แปลกและผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้ก็คงจะเป็นรูปวัวชน อ้างอิงรูปแบบจากครั้งที่ในหลวงร.9 และราชินีเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันวัวชนที่จังหวัดสงขลา ส่วนมากลูกค้าก็จะสั่งให้แกะสลักเป็นรูปต่างๆตามใจลูกค้า ซึ่งหากเป็นของที่ระลึกที่ลูกค้าสั่งทำก็ใช้เวลาในการทำประมาณ 3 วัน
ทำไมช่างนวลถึงเลือกใช้หนังวัวในการแกะสลัก หนังวัวมีคุณสมบัติที่ดีกว่าหนังสัตว์ชนิดอื่น สีที่ได้จากการรังสรรค์ผลงานบนหนังวัวจะมีสีสวยกว่า แม้แต่หนังควายก็มีคุณสมบัติไม่ดีเท่า และหนังวัวสามารถหาซื้อได้ง่ายกว่า มีราคาไม่แพงมากนักราคาประมาณ 750 - 1,250 บาทต่อหนึ่งตัวแล้วแต่ขนาดของวัว เมื่อได้หนังวัวก็จะนำมากำหนดขนาดและรูปแบบ ต่อมาก็มีการนำมาขุดตอก แกะสลัก ทาสี เคลือบ จนไปสู่ขั้นตอนการใส่กรอบ โดยจะมีการใช้สีผสมอาหารในการทาลงบนผลงาน บางครั้งก็เป็นสีอะคริลิคแล้วแต่ผลงาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสีผสมอาหารเพราะเป็นสีที่ไม่ทึบแสงเมื่อเคลือบออกมาแล้วผลงานจะมีสีสวย
ผลงานที่ช่างนวลเคยทำมามีชิ้นไหนที่ยากและรู้สึกภาคภูมิใจที่สุด ก็เป็นผลงานชิ้นที่ผมดัดแปลงและรังสรรค์ขึ้นมาใหม่เองโดยไม่ได้มีรูปแบบให้แกะสลักตาม ซึ่งเป็นการก้าวข้ามการแกะสลักหนังตะลุงธรรมดา แต่มีการนำงานจิตรกรรมเข้ามาผสมผสานกับหนังตะลุงจนเกิดเป็นผลงานชิ้นใหม่ที่ผมจะทำแค่ปีละ1 ผลงานเท่านั้นและแต่ละปีจะรังสรรค์ขึ้นมาใหม่มีรูปแบบไม่ซ้ำกัน ใช้เวลาในการทำก็ประมาณ 3 เดือนขึ้นไป ผลงานก็จะมีมูลค่าที่สูงขึ้น กรอบภาพต่างๆก็มีการสั่งทำขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ตอนนี้ผมกำลังหัดเรียนการทำกรอบอยู่ ในอนาคตจะได้ขึ้นกรอบด้วยตัวเองได้และลดต้นทุนไปในตัว
ช่างนวลได้มีการนำผลงานไปจัดแสดงที่อื่นไหม ตอนนี้ก็เป็นตัวแทนของอำเภอควนเนียงเวลาไปออกบูธต่างๆของทางจังหวัดสงขลา และก็จัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานศิลปะต่างๆก็มีการนำผลงานเหล่านี้ไปจัดแสดง และได้รับเชิญเป็นวิทยากรของวิทยาลัยชุมชน วิทยากรของสถาบันทักษิณคดีศึกษาสงขลา แล้วก็มีได้รับเชิญจากหน่วยงานอีกหลายๆหน่วยงานอยู่บ่อยครั้งแล้วแต่โอกาส
อยากให้ช่างนวลบอกความรู้สึกจากการรังสรรค์ผลงานศิลปะในแต่ละชิ้น ก็จำพวกของที่ระลึกที่เราทำออกมาแล้วและไม่ได้คิดว่าจะเป็นที่ถูกตาถูกใจ แต่เกิดมีคนมาสนใจหาซื้อและสั่งผลิตกันเป็นจำนวนมาก พอผมมีการมาทำเป็นงานศิลปะแบบนี้ก็ได้รับความนิยมเหมือนกัน ก็สร้างความแปลกใหม่และรู้สึกดีใจที่มีคนชื่นชอบจนได้มีการนำผลงานไปจัดแสดงในที่ต่างๆ และต่อไปในอนาคตเมื่อเสร็จสิ้นในกระบวนการเซ็นสัญญาต่างๆ ก็จะมีการนำผลงานไปวางขายที่สนามบินสุวรรณภูมิ และห้างไอคอนสยาม(iconsiam)
อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่บ้าง ก็ในเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้านตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก ผมก็เคยเป็นวิทยากรสอนเด็กๆในการหัดแกะสลักสิ่งของเหล่านี้หลายครั้ง ก็อยากบอกเด็กรุ่นใหม่ว่าจริงๆแล้วงานศิลปะพื้นบ้านเหล่านี้หากเรามีความสนใจและชื่นชอบ ต่อไปก็สามารถนำไปเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเราได้ก็อยากให้มีการอนุรักษ์ไว้ไม่อยากให้สูญหายไป
"เกียว"เบเกอรี่จากรุ่นแม่สู่คุณลูก กว่า 30 ปี ร้านขนมปังเล็กๆที่ไม่ธรรมดาในสะเดา
8 ธันวาคม 2567 | 362"ป้าบ่วย" เจ้าของร้านฮับเซ่ง สภากาแฟที่ตั้งอยู่คู่เมืองเก่าสงขลาร่วม 100 ปี
25 ตุลาคม 2567 | 2,336"หมี ศุภวิชญ์" ทายาทรุ่นที่ 4 ไอติมบันหลีเฮงสงขลา ส่งตรงจากรุ่นอากงอาม่ากว่า 100 ปี
15 ตุลาคม 2567 | 2,762"โกหล่าย" ทายาทรุ่นที่ 2 ร้านตัดผมสมบูรณ์เกษาหาดใหญ่
21 สิงหาคม 2567 | 1,298ดอกผลของความเพียร สู่ทุเรียนสองฝนสวนบังบา สวนแรกเริ่มจัดงานบุฟเฟต์ทุเรียน(เขาพระ)
18 สิงหาคม 2567 | 982ป้าแอด หญิงแกร่งแห่งอำเภอรัตภูมิ ยึดอาชีพทำนาจนเกิดเป็นแบรนด์ข้าวสังข์หยด สบายแสนคูหาใต้
23 มิถุนายน 2567 | 1,399"ลุงแจ้ว"สามล้อถีบรุ่นสุดท้ายแห่งเมืองสงขลา ขี่สามล้อถีบมากว่า 59 ปีกับอาชีพที่รักและมีความสุข
13 มิถุนายน 2567 | 1,724"หลวงทุ่งจินดา" ขวัญใจเด็กสะเดา แจกนมขนมฟรี ทำมานานกว่า 17 ปี ผู้ให้ที่มีแต่ความสุข
29 เมษายน 2567 | 1,208