หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ย้อนรอยโบราณ วัดโรงน้อยขึ้นพะโคะ สู่วัดโรง อ.กระแสสินธุ์
3 พฤศจิกายน 2567 | 3,408

วัดโรง ตั้งอยู่ในตำบลโรง อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา วัดโรงเป็นวัดโบราณที่มีข้อมูลปรากฎอยู่ในเอกสารโบราณสมัยอยุธยา คือ แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ.977 (พ.ศ.2158) ซึ่งเป็นแผนที่ภาพการกัลปนาวัดบนคาบสมุทรสทิงพระในสมัยอยุธยา ปรากฏชื่อของวัดโรงว่า “วัดโรงน้อยขึ้นพะโคะ”  โดยปรากฏอยู่ทางทิศใต้ของวัดโรงใหญ่และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไชยา 

(ภาพ : สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา)

ปัจจุบันวัดโรง เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มทางด้านตะวันออกของทะเลสาบสงขลา โดยมีคลองโรงไหลผ่านวัดทางด้านตะวันตก ทั้งนี้ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรได้ระบุไว้ว่า วัดโรงสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2300

โดยเมื่อแรกเริ่มตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งปัจจุบันไปทางตะวันออก ชาวบ้านเรียกชื่อเดิมกันว่า“วัดบน” ซึ่งสมัยก่อนนิยมการคมนาคมทางน้ำโดยใช้เรือเพื่อการสัญจรไปมาหาสู่กัน จึงได้สร้างโรงเก็บเรือไว้ ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานโดยปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่ริมคลองกันมากขึ้น ทำให้วัดต้องย้ายมาสร้างเสนาสนะของวัดในที่ตั้งใหม่ที่อยู่ริมคลองด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนที่ขยายตัวขึ้น โดยตั้งวัดขึ้นที่โรงเก็บเรือ จึงได้ชื่อว่า " วัดโรง" ทั้งนี้วัดโรงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.2370 และได้ผูกพัทธสีมาประมาณปี พ.ศ.2430

1. อุโบสถ ตั้งอยู่บริเวณลานกลางวัด สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อพ.ศ. 2461 มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นภาคใต้ผสมอิทธิพลการตกแต่งแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 และดัดแปลงตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่4-5 (พ.ศ. 2440 - 2464) อุโบสถเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาอุโบสถเป็นทรงจั่วชั้นเดียวมุงด้วยกระเบื้องดินเผาท้องถิ่น โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยที่ทำจากปูนปั้นลงรักปิดทอง

2. ศาลาการเปรียญ ชาวบ้านมักเรียกว่า ศาลาโรงธรรม สร้างเมื่อพ.ศ. 2463 เป็นอาคารโถงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างอาคารสร้างด้วยไม้และคอนกรีต หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีข้อความที่ระบุว่าซ่อมแซมศาลาการเปรียญ พ.ศ. 2489 ปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่   23 – 25

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดโรง ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 246 ง วันที่ 9 กันยายน 2567 หน้า 15 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 งาน 18.52 ตารางวา 

ข้อมูลบทความ : นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ (สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา)
ภาพบาความ : - วัดโรง อ.กระแสสินธุ์ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง