ป้าบ่วย เจ้าของร้านกาแฟฮับเซ่ง สภากาแฟเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองสงขลามาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี โดยร้านฮับเซ่ง ตั้งอยู่บนถนนนางงาม ย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นร้านกาแฟที่ยังคงความคลาสิคดั้งเดิมเอาไว้ แม้เวลาจะแปรเปลี่ยนและผันผ่านไป ร้านฮับเซ่งก็ยังคงทำหน้าที่เป็นสภากาแฟ สถานที่พบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตระหว่างกันของผู้คนอยู่เสมอ สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อย่างก้าวเข้าไปในร้านคือ ความคลาสสิคดั้งเดิม ตั้งแต่โต๊ะหินอ่อน เก้าอี้ไม้ พัดลมติดเพดาน พื้นกระเบื้องของร้านลายตารางหมากรุกที่มีสีสันสดใส ประกอบกับการตกแต่งร้านตั้งแต่รูปภาพ ป้ายแนะนำเมนูอาหารของร้าน บรรยากาศความอบอุ่นของร้าน การพูดคุยของกลุ่มลูกค้าที่แม้จะต่างคนต่างมาแต่เมื่อมาพบเจอกันภายในร้านก็จะมีการทักทายกันด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร ราวกับเป็นคนคุ้นเคยกันมานาน การต้อนรับของเจ้าของร้าน ที่พลางรับเมนูอาหารด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และหมั่นซักถามพูดคุยกับลูกค้า และสิ่งที่พบเห็นได้เป็นประจำ คือ เมื่อเสียงนาฬิกาดังบอกเวลา 8 โมงตรงในทุกๆเช้า ลูกค้าทุกคนจะพร้อมใจกันยืนตรงเพื่อเคารพธงชาติ ดังนั้น ทุกอย่างเหล่านี้จึงถูกผสมผสานกันทำให้ร้านมีความเป็นเอกลักษณ์และยังคงกลิ่นอายของอดีตเอาไว้ได้อย่างลงตัว
ก่อนอื่นให้ป้าบ่วยแนะนำตัวเองก่อนค่ะ ป้ายุพิน เกียรติโชติชัย หรือผู้คนเรียกกันติดปากว่า ป้าบ่วย เจ้าของร้านฮับเซ่งย่านเมืองเก่าสงขลา มีเอกลักษณ์ประจำตัว คือใบหน้าที่ยิ้มแย้มอยู่เสมอ แม้ในปัจจุบันป้าบ่วยจะไม่ได้ดูแลร้านเป็นหลักแล้ว แต่ก็ยังคงออกมาทักทายและพูดคุยกับลูกค้า ป้าบ่วยมักจะสวมเสื้อลูกไม้และผ้าปาเต๊ะในทุกๆวัน ของการประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าขายกาแฟ ทำให้ลูกค้าชินตากับป้าบ่วยในชุดดังกล่าว
จุดเริ่มต้นของร้านกาแฟฮับเซ่ง จนมาถึงรุ่นของป้าบ่วย เมื่อก่อนตั้งแต่สมัยของรุ่นพ่อ ร้านฮับเซ่งไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของร้านในปัจจุบัน ร้านเก่าตั้งอยู่ตรงจุดอื่นแต่ก็ยังคงอยู่ในถนนนางงาม ย่านเมืองเก่าสงขลาแห่งนี้ ซึ่งพ่อและแม่ของป้าบ่วยเป็นคนจีนไหหลำ เดินทางมาจากเกาะไหหลำ ขณะนั้นป้าบ่วยซึ่งเป็นลูกคนโตยังไม่เกิด พ่อกับแม่ก็พากันมาสร้างครอบครัวและตั้งรกรากอยู่ที่เมืองสงขลา
รวมแล้วร้านกาแฟตั้งแต่เปิดกิจการจวบจนถึงปัจจุบันทั้งหมดกี่ปีคะ ตอนป้าบ่วยเกิดมาก็เห็นร้านกาแฟฮับเซ่งอยู่แล้ว จากอดีตจนถึงปัจจุบันสืบทอดกันมาทั้งหมด 3 รุ่น รุ่นที่ 1 คือรุ่นของพ่อแม่ รุ่นที่ 2 คือรุ่นป้าบ่วย และในปัจจุบันเป็นรุ่นที่3 ซึ่งน้องชายคนเล็กของป้าบ่วยมารับช่วงสานต่อธุรกิจของครอบครัว รวมๆแล้วอายุของร้านฮับเซ่งก็คงอยู่คู่เมืองสงขลามาร่วม 100 ปี
ทำไมป้าบ่วยถึงเลือกสานต่อธุรกิจร้านกาแฟของครอบครัว ป้าบ่วยมีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 6 คน ป้าจบการศึกษาแค่ป.4 อายุ 10 ปีก็มาเริ่มช่วยคุณพ่อขายของแล้ว ต่อมาพ่อของป้าก็เสียตอนอายุป้าประมาณ 16 ปี ป้าบ่วยกับแม่จึงช่วยกันขายของและสานต่อธุรกิจร้านฮับเซ่ง เพื่อส่งน้องๆเรียนต่อ ซึ่งน้องทั้ง 5 คนก็จบและรับราชการทั้งหมด ตอนนี้ก็แยกย้ายกันไปสร้างครอบครัวของตัวเอง โดยป้าบ่วยเป็นแม่ค้าขายกาแฟมาเกือบทั้งชีวิตจนสามารถส่งน้องเรียนจนจบครบทุกคนได้
จุดเด่นของร้านฮับเซ่ง คิดว่าอะไรเป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าประจำ ลูกค้าที่เข้ามาในร้านฮับเซ่งมีทุกรุ่นอายุ ตั้งแต่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ จนไปถึงวัยเกษียณ โดยวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็มักจะตามมาชิมอาหารผ่านการบอกต่อและรีวิวในโซเชียล ส่วนลูกค้าวัยเกษียณบางคนก็เป็นลูกค้ามาอย่างยาวนานตั้งแต่วัยผู้ใหญ่จบจนวัยเกษียณ ก็ยังคงแวะเวียนมาที่ร้านฮับเซ่งแห่งนี้ ลูกค้าในร้านก็มีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เมื่อเข้ามาก็มีการทักทายกันเหมือนเพื่อนที่สนิทกันมานาน
ป้าบ่วยคิดว่าทำไมร้านฮับเซ่ง ถึงเป็นสภากาแฟเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองสงขลามาอย่างยาว ความดั้งเดิมและสูตรอาหารต่างๆของร้านฮับเซ่งยังคงเป็นสูตรดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นสมัยคุณพ่อ เป็นสูตรที่พ่อเป็นคนคิดค้นขึ้นมาเอง อย่างเช่นขนมปังไส้สังขยา สังขยาก็จะเป็นสังขยาสูตรไหหลำ มีความหอมอร่อย รสชาติไม่หวานจนเกินไป มีสีส้มซึ่งแตกต่างจากสังขยาในปัจจุบัน และจะทำกันวันแต่วัน เพื่อให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ ส่วนชาของร้านก็ใช้ชาซีลอนแท้ไม่ผสมสี ชาที่อื่นจะมีสีออกส้มๆ ส่วนที่ร้านจะเป็นสีจากชาแท้ๆซึ่งขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อมาเลยไม่ได้มีการเปลี่ยนยี่ห้อและยังเป็นสูตรดั้งเดิมไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด
การเปลี่ยนแปลงของร้านฮับเซ่งจากแรกเริ่มจนมาถึงปัจจุบัน แต่เดิมสมัยของรุ่นพ่อมีการขายเหล้า ขายบุหรี่ควบคู่ไปด้วยแต่พอมารุ่นหลังก็ไม่ได้มีการขายแล้ว และโครงของร้านก็ยังเป็นของเดิมเกือบทั้งหมดตั้งแต่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 ทั้งโครงของตัวบ้านไปจนถึงพื้นลายตารางที่มีสีสันสดใสหาดูได้ยาก โต๊ะกาแฟหินอ่อนกับเก้าอี้ไม้ พัดลมติดเพดานและตู้ไม้เก่า ส่วนการออกแบบร้านที่ยังคงความคลาสสิคดั้งเดิมไว้ ก็เป็นแนวคิดของน้องชายป้าบ่วย
ในฐานะที่ร้านฮับเซ่งอยู่มาอย่างยาวนานทุกยุคสมัย ป้าบ่วยมองเห็นการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาอย่างไรบ้างคะ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อก่อนป้าอยู่ถนนสายนี้ เวลาดึกๆดื่นๆก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร เวลาปิดร้านเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียงจะมารวมตัวกันและนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกันอย่างสนุกสนาน และเมื่อก่อนจะมีการฉายภาพยนต์ตอนรอบ 2 ทุ่ม ทุกคนก็จะรีบๆขายของและปิดร้านอย่างเร็วเพื่อพากันไปชมภาพยนต์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีอะไรแบบนั้นให้เห็นอีกแล้วเนื่องจากยุคสมัยแปรเปลี่ยนไปมากแล้ว รุ่นของป้าบ่วยเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันก็พากันจากไปหมดแล้วเหลือแต่ป้าบ่วยเพียงคนเดียว แต่ในด้านการค้าขายก็ยังคงเหมือนเดิมเพราะแถวนี้เป็นย่านการค้ามาตั้งแต่อดีตดั้งเดิม แทบจะทุกตึกจะมีการเปิดร้านค้าขายแตกต่างกันไป ในปัจจุบนร้านกาแฟ(คาเฟ่) เกิดขึ้นเยอะมากในย่านนี้ ซึ่งจะเป็นการขายกาแฟแบบรุ่นใหม่ทำด้วยเครื่อง ส่วนของป้าก็ยังคงความโบราณดั้งเดิมไว้ คือใส่ถุงชง
ทำไมถึงตั้งชื่อว่าฮับเซ่ง ชื่อฮับเซ่งคือเป็นชื่อร้านตั้งแต่สมัยของพ่อ คุณพ่อเป็นคนตั้งและยังคงเป็นชื่อเดิมมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า "ฮับ" แปลว่าร่วมกัน คำว่า "เซ่ง" แปลว่าสำเร็จ ความหมายโดยรวมคือ ร่วมกันมีความสำเร็จ
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาช่วงอายุ/ อาชีพ นอกจากลูกค้าประจำ ก็จะมีลูกค้าสิงคโปร์ที่มักแวะเวียนเข้ามาที่ร้านเป็นประจำ เพราะชื่นชอบในรสชาติสังขยาของทางร้าน โดยคนสิงคโปร์จะเรียก สังขยาว่า "กาย่า" ลูกค้าของร้านอาชีพประจำที่มักแวะเวียนเข้ามาคือ ข้าราชการวัยเกษียณ หรือข้าราชการที่พึ่งย้ายมาทำงานใหม่ก็มักจะมีการมาเลี้ยงต้อนรับกันที่นี่เสมอ
อนาคตของร้านฮับเซ่งจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงมีคนสานต่อธุรกิจร้านไหมคะ ก็คงให้น้องชายคนเล็กเป็นคนจัดการทั้งหมดและสานต่อ เพราะป้าอายุเยอะและทำไม่ไหวแล้ว ซึ่งน้องชายของป้าบ่วยนั้นเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันเกษียณแล้ว และเลือกมาสานต่อร้านกาแฟฮับเซ่ง เพราะรู้สึกเสียดายหากร้านต้องปิดตัวไป ซึ่งลูกจ้างของร้าน ที่อยู่ช่วยงานภายในร้านนั้นก็อยู่กันมา 10 กว่าปีแล้ว อยู่ช่วยเหลือกันมาจนเหมือนญาติเหมือนครอบครัวกันไปแล้ว ตอนนี้น้องชายก็เป็นคนจัดการดูแลทุกอย่างก็ให้น้องชายทำไป ซึ่งเมื่อก่อนตอนที่ร่างกายป้ายังแข็งแรง ป้าก็เป็นคนทำเองทุกอย่างเหมือนกัน เข้าครัวทำอาหารเองหมด
สุดท้ายนี้ป้ามีอะไรอยากฝากถึงลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาอุดหนุนร้านฮับเซ่งแห่งนี้มาตลอดไหมคะ ก็อยากขอบคุณขอบคุณที่มาอุดหนุน และเชิญชวนยินดีต้อนรับทุกๆคนเข้ามาที่ร้านฮับเซ่งตลอด โดยทางร้านจะเปิดทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเที่ยง แต่หากของหมดเร็วก็อาจจะปิดตั้งแต่ 11 โมง
"หมี ศุภวิชญ์" ทายาทรุ่นที่ 4 ไอติมบันหลีเฮงสงขลา ส่งตรงจากรุ่นอากงอาม่ากว่า 100 ปี
15 ตุลาคม 2567 | 2,278"โกหล่าย" ทายาทรุ่นที่ 2 ร้านตัดผมสมบูรณ์เกษาหาดใหญ่
21 สิงหาคม 2567 | 935ดอกผลของความเพียร สู่ทุเรียนสองฝนสวนบังบา สวนแรกเริ่มจัดงานบุฟเฟต์ทุเรียน(เขาพระ)
18 สิงหาคม 2567 | 623ป้าแอด หญิงแกร่งแห่งอำเภอรัตภูมิ ยึดอาชีพทำนาจนเกิดเป็นแบรนด์ข้าวสังข์หยด สบายแสนคูหาใต้
23 มิถุนายน 2567 | 1,037"ลุงแจ้ว"สามล้อถีบรุ่นสุดท้ายแห่งเมืองสงขลา ขี่สามล้อถีบมากว่า 59 ปีกับอาชีพที่รักและมีความสุข
13 มิถุนายน 2567 | 1,566"หลวงทุ่งจินดา" ขวัญใจเด็กสะเดา แจกนมขนมฟรี ทำมานานกว่า 17 ปี ผู้ให้ที่มีแต่ความสุข
29 เมษายน 2567 | 1,105"คนสงขลา" ศิษย์เก่า ม.ขอนแก่น รุ่นที่ 1หมายเลขนักศึกษา 001 คณะเกษตรศาสตร์
6 กุมภาพันธ์ 2567 | 28,166