แหล่งเตาโบราณบ้านปะโอเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมคลองปะโอ ตำบลม่วงงามและวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 1,600 ตารางเมตร เป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผาสมัยโบราณเมื่อประมาณ 800-1,000 ปีมาแล้ว
จากการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ลักษณะของเตาก่อด้วยดินดิบรูปเตาทรงกลมแบบเตาตะกรับ ระบายความร้อนแนวตั้ง แต่ละด้านเป็นทรงกลมมีช่องว่างคล้ายกับช่อกากบาทเป็นช่องเติมเชื้อเพลิง ส่วนหลังคาเตาสันนิษฐานจากร่องรอยผนังเตาที่พังลงมา คาดว่าก่อขึ้นเป็นรูปโดม แหล่งเตาแห่งนี้จัดเป็นแหล่งเตาโบราณที่พบหลักฐานการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวในภาคใต้ ตั้งอยู่บนสันทรายบนคาบสมุทรสทิงพระ ริมฝั่งอ่าวไทย ไม่ไกลจากชุมชนเมืองท่าสำคัญในภาคใต้ที่มีการติดต่อกับชนต่างแดนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-19
ผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตามีหลายประเภท เช่น จานแบน กระปุก หม้อกลม คณโฑ แต่ประเภทเด่นคือภาชนะดินเผาทรงหม้อน้ำแบบมีพวยหรือกุณฑี ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาในชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย เป็นที่ยอมรับกันว่ากุณฑีจากภาคใต้มีรูปทรงงดงามที่สุดในไทย และมีเทคนิคการผลิตเป็นเอกลักษณ์ คือผลิตด้วยดินขาว (Kaolin clay) คุณภาพดีผสมกับทรายละเอียดและดินเหนียว ทั้งนี้ ดินขาวเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี เนื่องจากทำให้เนื้อละเอียด เป็นสีขาวนวลและประสานกันแน่น รวมทั้งผ่านการเผาด้วยเตาเผาที่ควบคุมอุณหภูมิได้ถึง 1,000 องศาเซลเซียส ทำให้ได้เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ที่มีความแกร่งและบาง แต่ยังเหมาะสมกับการใช้งานของชุมชน
สะท้อนถึงการผสมระหว่างวิธีการผลิตแบบท้องถิ่นและความก้าวหน้าจากภายนอก ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมีแหล่งวัตถุดิบทั้งทรายละเอียด ดินเหนียวจากปากรอ ดินขาวจากเกาะนางคำในทะเลสาบสงขลา ทำให้ภาชนะมีคุณภาพดี และมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบจนถึงปัจจุบัน ที่ตั้งของเตาที่เหมาะสมทั้งการลำเลียงวัตถุดิบ รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ รวมถึงตัวภาชนะเอง ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทั้งเนื้อดิน สี การตกแต่ง ซึ่งสวยงามและเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่าภาชนะจากที่อื่น ๆ