หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เรื่องเล่าการก่อสร้างทางรถไฟหาดใหญ่ ผ่านมุมมองของคนงานรถไฟ
25 สิงหาคม 2567 | 4,236

สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนรถไฟ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นสถานีรถไฟ ระดับ 1 ของทางรถไฟสายใต้ โดยจากจุดนี้ทางรถไฟจะแยกออกเป็น 2 สาย คือ สายที่มุ่งหน้าไปยังปลายทางที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย และสายที่มุ่งหน้าไปบัตเตอร์เวิร์ท ประเทศมาเลเซีย ส่วนสายที่ถูกยกเลิก 1 สาย คือสายที่มุ่งหน้าไปสงขลา ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

การสร้างทางรถไฟสายใต้มีสาเหตุสำคัญอันหนึ่งมาจากความต้องการของรัฐบาลไทย ที่จะรักษาอำนาจอธิปไตย เหนือดินแดนหัวเมืองมลายูและหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยที่กำลังถูกคุกคามจากประเทศจักรวรรดิตะวันตกความต้องการที่จะกระชับหัวเมืองปักษ์ใต้ให้ใกล้ชิดกับรัฐบาลกลาง และใช้รถไฟเป็นกลไกสําคัญในการสนับสนุนมาตรการทางการปกครอง และเศรษฐกิจ เพื่อสนองนโยบายบูรณาการประเทศของรัฐบาลไทย

เมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน ทางรถไฟสายใต้ก็ยังมีความสําคัญต่อท้องถิ่นภาคใต้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอดีต ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะทางรถไฟสายใต้นี้ เป็นทางคมนาคมทางบกที่ได้สร้างขนานเป็นแนวยาวไปกับภาคใต้ของประเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นแหลมยื่นไปกลางมหาสมุทรโดยผ่านจุดกึ่งกลางของสันแหลม เริ่มต้นจากนครหลวงไปจดเขตแดนไทย - มาเลเซีย ทางรถไฟสายใต้จึงเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของภาคใต้ เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีบทบาทสําคัญมาก เพราะเป็นเส้นทางที่ได้ให้ความสะดวกสบายในการเดินทาง การขนส่ง การสื่อสาร และยังมีความสําคัญในการสร้างเอกภาพทางการเมืองการปกครองของประเทศอีกด้วย

สิ่งที่มีความสําคัญพร้อม ๆ กับการสร้างทางรถไฟ กล่าวคือแรงงานหรือคนงานรถไฟ ถือ เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนกิจการรถไฟ โดยคนงานรถไฟ ฝ่ายการช่างโยธา จะมีหน้าที่ซ่อมบํารุง ดูแลความปลอดภัยของระบบราง สะพานต่าง ๆ ซึ่งในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ยังไม่มีเทคโนโลยีในการเข้ามาช่วยให้ความสะดวกในการทํางาน ยังเป็นการใช้แรงงานของคนเป็นส่วนใหญ่การเป็นคนงานรถไฟ ฝ่ายการช่างโยธา จึงต้องทํางานหนัก เพื่อให้ขบวนรถไฟสามารถเดินได้ปกติโดยเร็ว

เรื่องเล่าของนายเคล้า โปดํา อดีตคนงานรถไฟฝ่ายการช่างโยธา ในเรื่องราวของวิถีชีวิตในการทํางานรถไฟ สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต สังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนทํางานรถไฟในท้องถิ่น ในพื้นที่บริเวณชุมทางรถไฟหาดใหญ่ ถึง เขาชุมทอง ได้อย่างน่าสนใจ “หลังจากที่ทํางานรถไฟมา 8 ปี ก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการของการ รถไฟ ซึ่งจะขึ้น ให้คนที่ขยันทํางาน อดทน และขึ้นบัญชีบรรจุให้ทุกปี ทั้งนี้ก็มาจากการเลือกของนายหัวรถไฟที่ดู จากความประพฤติในการทํางานเป็นหลัก......”

เรื่องเล่าที่กล่าวมาข้างต้น เป็นประโยคแรกที่นายเคล้า โปดํา ได้เล่าซึ่งเต็มไปด้วยสีหน้าที่มีความภูมิใจในตัวเอง เนื่องจากการใช้แรงหนักในการเป็นคนงานของการรถไฟที่มีหน้าที่ในการซ่อมบํารุงทางที่ต้องทํางานหนักทุก ๆ วัน จนถึงวันที่ได้ขึ้นบัญชีบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและความรู้สึกในการทํางานของนายเคล้า โปดํา เป็นอย่างมาก นับว่าเป็นการ เลื่อนขั้นในชีวิตการทํางานอย่างก้าวกระโดดจากการเป็นผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัด แต่ภายหลังกลับได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการที่สามารถรับสิทธิประโยชน์ที่ทางภาครัฐได้ตอบแทนให้ แสดงให้เห็นนัยยะทางสังคมและการให้คุณค่าต่ออาชีพราชการที่มีอิทธิพลอยู่ในช่วงเวลานั้น

มีการเล่าถึงเส้นทางรถไฟสายสงขลาที่มีการตัดออก ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบนายเคล้า โปดํา รับผิดชอบในเรื่องของการซ่อมบํารุงทาง โดยในปี พ.ศ. 2521 คณะรัฐมนตรีมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยกเลิกการเดินรถไฟสายสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 แต่ให้รักษาเขตทางไว้ก่อน โดยมิได้รื้อทางรถไฟออก ปัจจุบันเส้นทางอยู่ในสภาพชํารุดทรุดโทรม และมีผู้บุกรุกปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนทับบริเวณเขตทางรถไฟเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครสงขลา และทางจังหวัดสงขลาได้ทําการปรับปรุงอาคารสถานีรถไฟสงขลาอีกครั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนต่อไป โดยนายเคล้า โปดํา ได้เล่าว่า “บอกว่ามีพี่น้องอยู่บริเวณนั้นเยอะ แต่ปัจจุบันไม่ได้ไปมาหาสู่กันเป็นเวลานานแล้ว และได้เล่าว่าการที่มีการตัดรถไฟสายสงขลาออก เนื่องจากมีคนในบริเวณนั้นน้อย และรถไฟจะมาเป็นเวลา ประจวบเหมาะกับการมีหรือเกิดขึ้นของรถบัสหรือรถโดยสาร คนจึงหันมาขึ้นรถโดยสารกันมากกว่า ซึ่งมีความสะดวกและไม่ต้องรอกําหนดเวลาของรถไฟ จึงส่งผลให้รถไฟเกิดการขาดทุน เนื่องจากรถไฟหนึ่งสายที่เป็นสายหลักมีอุปกรณ์ที่การรถไฟลงทุนไปจํานวนมาก เมื่อมีคนใช้บริการน้อยทําให้ขาดทุนจนต้องตัดเส้นทางนี้ออก....”

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านเรื่องเล่าจากลุ่มคนเล็กคนน้อยอย่างเช่นคนงานรถไฟนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักจากหลักฐานเอกสารต่างๆ เพราะจะช่วยให้เราได้สัมผัสและเข้าใจข้อมูลยิบย่อยจากกลุ่มคนเล็กๆซึ่งช่วยให้เราสามารถมองภาพช่วงเวลาสมัยนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อ้างอิงข้อมูลบทความ : - ณัฐวัตร โปดำ."เรื่องเล่าและความทรงจำของคนงานรถไฟ . มหาวิทยาลัยทักษิณ
อ้างอิงภาพบทความ : - การก่อสร้างสถานีรถไฟหาดใหญ่ . ภาพเก่าของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง