หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ชุมชนมุสลิมสงขลา ณ เมืองไชยา สุราษฎร์ธานี
18 สิงหาคม 2567 | 3,711

ชุมชนมุสลิมบ้านสงขลา เป็นชุมชนมุสลิมขนาดเล็ก ที่ตั้งอยู่ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นมุสลิมที่มีการอพยพมาจากหัวเขาแดง จังหวัดสงขลา 

ในสมัยสุลต่านมุสตาฟา ดังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า "...หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งกำลังเข้าปราบปรามรัฐอิสระสงขลา หัวเขาแดงได้อย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ.2223 โปรดให้ส่งสุลต่านมุสตาฟา ผู้ครองเมืองขณะนั้นพร้อมด้วยครอบครัวและผู้ติดตามที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปไปอยู่ที่เมืองไชยา ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปีไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา..."

มุสตาฟานับว่าเป็นเจ้าเมืองไชยาผู้ที่มีเชื้อสายมุสลิมท่านแรก ทันที่ที่ได้รับตำแหน่งมุสตาฟาได้พาครอบครัวและผู้ติดตามมาลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนบนที่ดอนเล็กๆในทุ่งไชยา และขนานนามเมืองไชายาใหม่ที่ตั้งอยู่ ณ ทุ่งไชยาว่าบ้านสงขลา 

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยชุมชนชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ระบุว่าในสมัยอยุธยา มีแขกมลายูชื่อมะระหุม ปะแก อพยพครอบครัวและพรรคพวกมาจากบ้านหัวเขาแดง ปากน้ำเมืองสงขลา มาตั้งบ้านเรือนที่โฉลก ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านหัววัง ตั้งอยู่ในอำเภอพุนพิน ผู้อพยพมีการประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก อยู่มาได้สักระยะหนึ่งเจ้าเมืองไชยาว่างลง จึงทรงโปรดเกล้าฯให้มะระหุมปะแกเป็นเจ้าเมืองไชยา เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วได้ย้ายผู้คนมาตั้งอยู่ที่ทุ่งไชยา เอานามเมืองสงขลาที่เคยใช้อยู่ที่แหล่งเดิมมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เรียกว่า บ้านสงขลา ซึ่งตรงกับตำนานเมืองไชยาที่เล่าว่า เดิมทีเมืองไชยาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองไชยาปัจจุบัน ที่เรียกกันว่า บ้านพุมเรียง ภายหลังได้มีการย้ายเมืองไชยาไปตั้งที่บ้านเวียง 

ต่อมาเนื่องจากชุมชนมุสลิม มีอายุยาวนานกว่า 100 กว่าปี มีประชากรอาศัยประมาณ 200 หลังคาเรือน สงขลา มชนจึงมีการขยายตัวมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้บ้านสงขลาแยกย่อยออกเป็นหมู่บ้านมุสลิมอีก 2 หมู่บ้าน คือ บ้านโต๊ะเจ้า และบ้านกลาง 

หลักฐานที่บ่งบอกถึงอารยธรรมที่มีการสั่งสมมาอย่างยาวนานชั่วอายุคนของชุมชนมุสลิมบ้านสงขลา คือ หลักประโคน และกุโบร์เจ้าเมือง ที่ยังคงมีร่องรอยปรากฏให้เห็นอยู่จวบจนปัจจุบัน เป็นสิ่งยืนยันที่แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่อำเภอไชยามีชุมชนมุสลิมตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่มาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม มีการผสมผสานจนเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ และกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน

อ้างอิงภาพ/ข้อมูลบทความ -วารสารเมืองโบราณ.(มุสลิมบ้านสงขลาเมืองไชยา)
-เจริญ ศรประดิษฐ์,กอมารุดดิน ยีสา.(งานวิจัยชุมชนชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
-เพจเมืองไชยา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง