หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ย้อนตำนาน โพน 9 ลูก คู่เมืองพัทลุง
14 กรกฎาคม 2567 | 4,113

โพนชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้  เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในอดีต ใช้บอกเหตุร้ายเวลากลางคืน  บ้างใช้สำหรับเรียกประชุมหมู่บ้าน  เป็นสัญญาณเมื่อถึงเวลาฉันอาหาร  รวมทั้งใช้เป็นจังหวะในงานประเพณีลากพระ  โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ปี "โพน” เป็นภาษาท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง เป็นชื่อกลองซึ่งมีลักษณะเหมือน "กลองทัด” มี 3 ขา ตีด้วยไม้แข็ง 2 มือ หน้ากลองมีขนาดตั้งแต่ 35-100เซนติเมตร ทำจากการเจอะไม้ต้นตาล หรือไม้ขนุน หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายหรือหนังวัวทั้งสองหน้า 

(ภาพ : ระบบศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร)

เมืองพัทลุงในอดีตเวลาพระฉันภัตตาหารเพล คือในเวลา 07.00 น. และ 11.00 น. ก็จะให้สัญญานด้วยการตีโพน เวลาจะบอกเหตุร้ายแก่ชาวบ้านหรือเวลาใดที่ไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน บอกสัญญาณนัดแนะประชุมหรือรวมกลุ่ม เตือนการเตรียมงานของกลุ่ม เช่น ลากพระ รับกฐิน บอกเหตุร้ายหรือขอความช่วยเหลือ ชาวบ้านจะอาศัย “เสียงโพน” จากวัดหรือจากหมู่บ้านเป็นสัญญาณที่รู้กันแบบสัญญา
ย้อนตำนานโพน 9 ลูก คู่บ้านคู่เมืองพัทลุง

งานประเพณีแข่งโพน–ลากพระ จังหวัดพัทลุง นับเป็นกิจกรรมที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมว่ายิ่งใหญ่ ตระการตาและสมศักดิ์ศรีคู่บ้านคู่เมืองพัทลุงมาช้านาน แต่ทว่าที่ผ่านมาการตีโพนจำกัดวงเฉพาะประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือแม้แต่เป็นกีฬาในการแข่งขันโพน–ลากพระไม่ได้มีตีเป็นการทั่วไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว เทศบาลเมืองพัทลุง มีจุดหมายจะสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษชาวพัทลุง เพื่อให้โพนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายยิ่งขึ้น

เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 เทศบาลเมืองพัทลุง จึงได้จัดพิธีหุ้มโพนมงคล 9 ใบ เพื่อเป็นมรดกของท้องถิ่น และให้ประชาชนชาวพัทลุงและผู้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดพัทลุง ได้มีโอกาสตีเพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว โพนทั้ง ๙ ใบที่นำมาหุ้มในครั้งนี้ มีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน เช่น 

ตำนานของโพน 9 ใบ ปรากฏดังนี้
1. โพนฟ้าลั่น โพนแห่งวัดอินทราวาส (ท่ามิหรำ) ถนนคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง สร้างขึ้นโดยพระครูตาแก้ว และพระปลัดประคอง ธมฺมปาโล เมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นโพนขนาดใหญ่ สูง 76 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 51 เซนติเมตร ทำด้วยไม้ขนุนทอง ลูกสักมี 98 อัน ขนาด 3 หุนครึ่ง มี นายแปลก ขุนชำนาญ เป็นผู้ตี ผลงานที่สร้างชื่อให้โพนฟ้าลั่น ก็คือเป็นแชมป์ในงานประเพณีแข่งโพน–ลากพระ ติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536-2540 เป็นที่รู้จักของนักเลงตีโพนทุกเพศทุกวัย รูปทรงสวยงาม เสียงดัง และมีเสน่ห์
2. โพนโครงพุก โพนแห่งวัดควนปรง อำเภอเมือง สร้างขึ้นโดยพระอาจารย์คง เจ้าอาวาส ประมาณ ปี พ.ศ. 2418 เป็นโพนขนาดกลาง สูง 53 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 41 เซนติเมตร ทำด้วยไม้ขนุนทอง มีลูกสัก 104 อัน ขนาดหุนครึ่ง สมัยรุ่งเรืองสุดขีดนั้น นายเตี้ยม มาเอียด และนายนะ อินทนุ เป็นผู้ตี โพนโครงพุกใช้ตีบอกเวลา เข้า เที่ยง เย็น และกรณีสำคัญ ๆ หรือในยามฉุกเฉิน เสียงจะดังไปทั่วเขตเทศบาลฯ และใกล้เคียง เพราะเวลาตีอยู่บนเนินควนสูง มีความขลัง บนบานตามความเชื่อ มักสัมฤทธิ์ผลให้โทษกับบุคคลที่ลูบหน้าโพน ก่อนแข่งขันบางครั้งสามารถกลิ้งไปมาได้ทั้งที่ไม่มีจนจับขยับแต่อย่างใด เอ่ยชื่อว่าโครงพุกไม่มีใครไม่รู้จัก บางคนอาจไม่เคยเห็นแต่ชื่อเสียงโด่งดังหาโพนวัดใดเสมอเหมือนมิได้

(ภาพ : ระบบศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร)

3.โพนไอ้เคียน โพนแห่งวัดควนปริง ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน สร้างขึ้นโดยหลวงพ่อยิ้ม สัยติโถ เมื่อปี พ.ศ. 2490 เป็นโพนขนาดกลาง สูง 60 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 47 เซนติเมตร ทำด้วยไม้ตะเคียน มีลูกสัก 94อัน ขนาด 3 หุน ตามตำนานไม่ปรากฏชัดว่าผู้ใดคือคนตี จนเมื่อปี พ.ศ. 2543 นายประชีพ นวลมโน คือผู้ตี ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายเจิม เพชรรักษ์ โพนไอ้เคียนมีจุดเด่นที่เสียงหวานซึ่งหนักแน่น และมีความขลังด้วยอาถาอาคม เคยสร้างชื่อด้วยการเป็นแชมป์ที่สนามกีฬากลาง และแชมป์ระดับอำเภอ ตำบล ทุกครั้งที่เข้าแข่งขัน อันดับหนึ่งในสาม ต้องมีชื่อโพนไอ้เคียนปรากฏอยู่เสมอ
4. โพนสุธาลั่น โพนแห่งจังหวัดสงขลา ไม่ปรากฏว่าเป็นของวัดใด แต่มีคนแลกเปลี่ยนกับโพนของตาพ่วง จุลพูน ข้างโพนมีร่องรอยระบุปีที่สร้าง คือปี พ.ศ. 2471 เป็นโพนขนาดใหญ่ สูง 80 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 61เซนติเมตร ทำจากไม้ตะเคียน มีลูกสัก 100 อัน ขนาด 3 หุน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายพ่วง จุลพูน โพนสุธาลั่น เป็นโพนที่มีเสียงยืด ทุ้ม มีจุดเด่นที่รูปทรงสวยงาม สมส่วน เคยเป็นแชมป์ไทยสยามภูธร และรองแชมป์ถ้วยพระราชทาน
5. โพนไอ้เคียนทอง ทำมาจากไม้ท่อนเดียวกับโพนไอ้เคียน แห่งวัดควนปริง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2493 เป็นโพนขนาดกลาง ทำจากไม้ตะเคียน สูง 57 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 49 เซนติเมตร มีลูกสัก 102 อัน ขนาด 3 หุน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายอ่วม นิ่มดำโพนไอ้เคียนทอง มีความพิเศษตรงที่เมื่อถึงฤดูกาลแข่งขันในช่วงเทศกาลออกพรรษา มักจะดังขึ้นเองเหมือนกับจะบอกว่าโพนในสังกัดจะต้องติดอันดับต้น ๆ หรือเป็นแชมป์ทุกคราวไป และเคยเป็นรองแชมป์ระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน

6. โพนไอ้ยอม โพนแห่งวัดไทรห้อย ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2432 เป็นโพนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้พะยอม สูง 48 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 42 เซนติเมตร มีลูกสัก 80 อัน ขนาด 3 หุนครึ่ง ส่วนผู้ตีไม่ทราบแน่ชัด โพนไอ้ยอมเป็นโพนคู่แข่งขอบโพนโครงพุก ผลัดกันแพ้ชนะพอ ๆ กัน หากเป็นโพนรุ่นเดียวกันยากที่จะเอาชนะได้ ด้วยอายุเกิน 100 ปี จึงทำให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป นอกจากนั้นความพิเศษของโพนไอ้ยอม คือในอดีตเมื่อมีการสร้างถนนทว่าถนนที่สร้างนั้นไปตัดพื้นที่ซึ่งเจ้าของไม่อนุญาตเกิดกรณีพิพาทขึ้น เพียงแต่ได้ยินเสียงโพนไอ้ยอมเท่านั้น ข้อพิพาทนั้นเป็นอันยุติ
7. โพนฟ้าเมืองลุง มีการแลกเปลี่ยนโพนกันหลายทอด ท้ายสุดอยู่ในความรับผิดชอบของนายฉกรรจ์ ศารานุรักษ์ เป็นผู้ตี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นโพนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ตะเคียนทอง สูง 82 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 59 เซนติเมตร มีลูกสัก 76 อัน ขนาด 4 หุน โพนฟ้าเมืองลุง เคยคว้าแชมป์โพนถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2543 ก่อนจะเป็นแชมป์โพนถ้วยพระราชทานฯ นั้นเคยเป็นแชมป์ระดับตำบล หมู่บ้านมาทุกปี หลังจากที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จึงไม่ไปแข่งขันสนามใดอีกเลยจนปัจจุบัน

8.โพนอีโด โพนแห่งวัดท่าสำเภาใต้ อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2430 แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าใครเป็นผู้สร้าง เป็นโพนรุ่นเล็ก ทำจากไม้ประดู่ สูง 57 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร มีลูกสัก 78 อัน ขนาด 4 หุน โพนอีโดเป็นโพนบอกเวลา เช้า เที่ยง เย็น เหตุฉุกเฉิน มีอายุมาก เสียงดัง ก้องกังวาน ยามแข่งขัน ไม่เป็นสองรองใครเรื่องเสียง แม้อาจจะไม่ได้แชมป์สนามใหญ่หรือสนามกลาง กระนั้นก็ติดรองแชมป์ทุกปี ส่วนสนามภูธร ระดับตำบล หมู่บ้าน ยากที่คู่แข่งจะผ่านไปได้
9.โพนก้องสุธา โพนแห่งวัดควนปันตาราม (ปันแต) ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน เป็นโพนขนาดใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2470 อายุ 78 ปี ทำด้วยไม้ตะเคียนทอง สูง 71 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 54 เซนติเมตร มีลูกสัก 114 อัน ขนาด 3 หุนครึ่ง เพราะเป็นโพนขนาดใหญ่ เสียงทุ้ม ดังกังวาน มีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก แต่แข่งครั้งใด ๆ ก็ ไม่มีโพนลูกใดเอาชนะโพนก้องสุธาได้ จนกระทั่งไม่มีคู่แข่งจึงเก็บไว้ ต่อมาพระครูสงวน ฉันทะโก หุ้มและตกแต่งใหม่ที่เคยหนัก เคลื่อนย้ายลำบาก ก็เบาขึ้นกว่างเดิม แข่งขันโพนรอบคัดเลือกจนเข้ารองชิงชนะเลิศ ปี 2547 ที่ผ่านมา สามารถเป็นรองแชมป์โพนใหญ่

ขอบคุณภาพ/ข้อมูลบทความ : ข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง