หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ออกปากกินวาน ประเพณีของชาวรัตภูมิ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่
23 มิถุนายน 2567 | 3,297

อำเภอรัตภูมิแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 63 หมู่บ้าน ชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำคลองรัตภูมิ มีความสัมพันธ์และสำคัญกับคนที่อยู่ปลายน้ำจนถึงลุ่มทะเลสาบสงขลา คนป่าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่างก็มีความสัมพันธ์กันในระบบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ทั้งระบบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบนและตอนล่าง วัฒนธรรมของคนควน(โหมเหนือ) และคนเล(โหมบก) “เอาข้าวไปแลกกับปลา”

(ภาพ : สำนักงานพัฒนาชุมชน อำภอรัตภูมิ จ.สงขลา)

ช่วงทศวรรษ2500 ผู้คนในอำเภอรัตภูมิมีการประกอบอาชีพโดยการทำนาเป็นหลัก เพราะขณะนั้นการปลูกยางพารายังไม่แพร่หลายมากนัก และชาวนาในอำเภอรัตภูมิส่วนใหญ่ดำรงฐานะทางครอบครัวอยู่ได้ด้วยผลผลิตจากนา การทำมาหากินนอกจากพึ่งพาอาศัยปัจจัยต่างๆทางธรรมชาติแล้ว “คน” คือปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยชุมชนจึงมีระบบแลกเปลี่ยนแรงงานเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การจัดระบบช่วยเหลือแรงงานกันในการทำนาที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวนาในภาคใต้คือ “ออกปากกินวาน”

การทำนาจะมีช่วงฤดูกาลที่จำกัด หากมีเหตุผลให้ทำได้ล่าช้าไม่ทันฤดูกาล ย่อมส่งผลให้ครอบครัวนั้นๆ ประสบชะตากรรมไปตลอดปี การเกื้อกูลให้เพื่อนบ้านทุกครัวเรือนทำนาได้ผลผลิตมากที่สุดจึงเป็นภาระผูกพันซึ่งกันและกัน จึงมีการผลัดเปลี่ยนช่วยกันลงแรง หรือในกรณีที่หัวหน้าครอบครัวเกิดปัญหาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องคดี ถูกคุมขัง ประสบภัยธรรมชาติ เกิดอุบัติเหตุ วัวควายถูกลักขโมยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เพื่อนบ้านจะต้องร่วมใจกันอนุเคราะห์ งานวานในลักษณะนี้จึงอาจเกิดจากความประสงค์ของผู้ประสบปัญหาเองหรือเพื่อนบ้านเป็นฝ่ายช่วยคิดทำให้ก็มี งานวานที่เกี่ยวกับการทำนา ได้แก่ วานไถนา วานดำนา วานเก็บข้าว วานหาบข้าว (ขนย้ายข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ไปเก็บ ณ ที่เก็บถาวร) เหล่านี้เพื่อนบ้านจะให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือเป็นพิเศษ ส่วนงานที่ให้ความสำคัญรองลงมาคือ วานถอนกล้า วานขุดตอหรือหักร้างถางพง วานวิดน้ำเข้านา วานพูนคันนา เพราะงานเหล่านี้ถือว่าไม่รีบด่วนนัก เพียงแต่ต้องใช้ความพยายามเท่านั้น เว้นแต่จะมีสาเหตุอื่นๆประกอบ เช่น เป็นผู้เข้ามาตั้งรกรากใหม่ หญิงหม้ายที่มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกอ่อน เหล่านี้เป็นต้น จึงทำให้เกิดประเพณี "ออกปากกินวาน" 

จากการที่ทีมหาดใหญ่โฟกัส ได้มีการสัมภาษณ์คนในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ ได้ข้อมูลมาว่า คนส่วนใหญ่ในอำเภอรัตภูมิประกอบอาชีพทำนา จะมีการออกปากมาช่วยกันทำนา คนที่ออกปากจะต้องหุงหาอาหารให้คนที่มาช่วยทำนาได้กินได้ดื่ม คนที่มาช่วยก็จะเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน หรือญาติพี่น้อง นอกจากการทำนาแล้ว ชาวบ้านก็จะกรีดยางทำสวนยางพารากัน แต่ก็จะมีไม่เยอะเท่าการทำนา 

เวลาทำนาคนสมัยก่อนก็มักจะใช้วัวใช้ควายในการไถนา บ้านหลังหนึ่งจะเลี้ยงวัวประมาณ10-15ตัว พื้นที่อำเภอรัตภูมิในช่วงเวลานี้ ความเจริญต่างๆยังเข้าไม่ถึง ผู้คนอาศัยกันเป็นชุมชนหมู่บ้านเป็นหย่อมๆ มีการอยู่อาศัยกันโดยระบบเครือญาติเป็นหลัก การคมนาคมต่างๆก็ยังไม่ได้รับการพัฒนา จึงมีการเดินทางโดยทางเท้าเป็นหลัก จะมีบ้างก็รถจักรยาน ซึ่งหากในช่วงเวลานี้หากบ้านไหนมีรถจักรยานก็จะถือว่าค่อนข้างมีฐานะ ซึ่งในช่วงเวลานี้พื้นที่โดยรอบชุมชนหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็จะเป็นป่ารกชัน จะมีที่โล่งเตียนก็เป็นเพราะชาวบ้านไปหักร้างถางพงเพื่อปลูกสร้างบ้านเรือน หรือทำไร่ทำนา 

ข้อมูลบทความ : -ขวัญหทัย จิตพิทักษ์.ศึกษาประเพณีออกปากกินวานในการทำนาของชาวนาอำเภอรัตภูมิ 
ภาพบทความ : -ประเพณีการออกปาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง