หากเราขับรถมุ่งหน้าจะไปจังหวัดพัทลุง เชื่อว่าชาวหาดใหญ่คงมองเห็นเขาลูกนี้กันอย่างละลานตามองเห็นในระยะที่ทั้งใกล้และไกล ซึ่งจะเรียกกันในชื่อของ เขาอกทะลุ เป็นภูเขาหินปูนวางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 245 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1 กิโลเมตรบนภูเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาชนิด พื้นที่เชิงเขามีประชาชนอยู่อาศัยและใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือมีลำคลองไหลผ่าน เรียกว่า คลองโรงตรวน ไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านบ้านม่วง บ้านควนสมาไปรวมกับคลองอื่นๆ ที่บ้านห้วยควน เรียกว่า คลองลำปำ ไหลออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ด้านใต้ของภูเขา มีคลองตำนานไหลผ่านเขาอกทะลุ บ้านทุ่งไหม้ บ้านควนมะพร้าว บ้านควนแร่ ไปรวมกับคลองที่บ้านหัวควน เส้นทางเหล่านี้อดีตเชื่อว่าเป็นทางคมนาคมของชุมชนโบราณหลายแหล่ง เช่น ชุมชนบ้านม่วง ชุมชนบ้านควนมะพร้าวหรือชุมชนบ้านพญาขัน ชุมชนบ้านควนแร่ ชุมชนบ้านควนสารและชุมชนบ้านลำปำ เป็นต้น
เขาอกทะลุ เป็นเขาที่มีความสำคัญของจังหวัดพัทลุง ในฐานะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเจ้าแม่ดุดี เจ้าแห่งเขาอกทะลุ ชาวเมืองพัทลุงเชื่อถือเปรียบเสมือนเสาหลักเมืองพัทลุง ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงเอาภาพเขาอกทะลุและเจดีย์บนยอดเขาทำเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง เขาอกทะลุยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัด ภายในถ้ำต่างๆ
ทั้งนี้ยังมี ตำนานของภูเขาลูกนี้มีอเรื่องเล่าว่า นานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่งสามีชื่อนายเมืองเป็นพ่อค้าช้าง มีภรรยาสองคนภรรยาหลวงชื่อนางสินลาลุดี หรือนางดุดี ภรรยาน้อยชื่อนางบุปผาแต่มักทะเลาะตบตีกันเสมอ นายเมืองมีลูกสาวเกิดจากภรรยาหลวงคนหนึ่งชื่อนางยี่สุ่นชื่นชอบการค้าขาย ส่วนภรรยาน้อยมีลูกชายชื่อนายซังกั้ง มีนิสัยเกเร วันหนึ่งนายเมืองเดินทางไปค้าขายช้างต่างถิ่น ลูกสาวออกเรือสำเภาไปเมืองจีน ส่วนลูกชายท่องเที่ยวสนุกกับเพื่อน ทั้งสามไม่ได้กลับบ้าน มีเพียงภรรยาหลวงนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน และภรรยาน้อยกำลังตำข้าว ไม่นานทั้งสองเกิดมีปากเสียง ภรรยาหลวงใช้กระสวยทอผ้าพาดไปที่ศีรษะของภรรยาน้อย ทำให้แผลแตกเลือดไหลโกรก ภรรยาน้อยไม่ปราณีใช้สากตำข้าวแทงและกระทุ้งตรงทรวงอกของภรรยาหลวงจนทะลุ ในที่สุดทั้งสองก็ถึงแก่ความตาย กลายสภาพเป็นภูเขา ภรรยาน้อยกลายเป็นเขาหัวแตก ส่วนภรรยาหลวงกลายเป็นเขาอกทะลุนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อนายเมืองเดินทางกลับมาทราบข่าวการตายของภรรยาทั้งสอง ก็ตรอมใจตายกลายเป็นเขาเมือง (เขาชัยบุรี) ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างหมอบ จากนั้นไม่นายนางยี่สุ่นก็เดินทางกลับมาถึงได้ทราบข่าวการตายของบิดามารดาก็ตรอมใจตายเช่นกันแล้วได้กลายเป็น เขาชัยสน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ในท้องที่อำเภอเขาชัยสน ส่วนนายซังกั้งเดินทางกลับมาช้าทีสุดก็ได้ทราบข่าวการตายของคนในครอบครัวก็ตรอมใจตายกลายเป็นเขากัง
และมีตำนานที่เกี่ยวกับเขาลูกนี้อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ในอดีตนานมาแล้วทางฟากฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาไม่มีภูเขาชาวท้องถิ่นในละแวกนั้นต้องการให้มีภูเขาเพื่อเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด จึงพร้อมกันว่าจ้างนายแรงผู้มีพลังมหาศาลให้หาบเขาจำนวน ๑๐๐ ลูก มาเรียงติดต่อกันเป็นลูกเดียวโดยไปหาบมาจากทวีปอุดร นายแรงรับตกลง ไปหาบเขาจากทวีปอุดรครั้งละ 2 ลูกมาวางต่อเรียงกันเข้า หาบได้ 49 หาบ ได้เขา 98 ลูก เผอิญหาบสุดท้ายคือหาบที่ 50คานหาบหักสะบั้นลงทำเอานายแรงเสียหลัก คุกเข่าลงบนพื้นดินอย่างแรงทำให้พื้นดินตรงนั้น กลายเป็นหนองลึก ชาวบ้านเรียกว่า "หนองนายแรง” มีกุ้งปลาชุกชุม เขา 2 ลูกที่หาบมานั้นก็กระเด็นไปไกลลูกแรกที่ไปตกทางทิศตะวันออก เรียกว่า เขารัดปูน ลูกที่สองไปตกทางทิศตะวันตก เรียกว่าเขาใน ส่วนเขา 98 ลูก ที่วางเรียงติดกันไว้แล้วนั้นคือเกาะใหญ่นั่นเอง (เขารัดปูน เขาในเกาะใหญ่ อยู่ในเขตอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา)
และการที่คานหาบหักสะบั้นในเที่ยวสุดท้ายทำให้นายแรงเกิดโมโหสุดขีด จับไม้คานข้างหนึ่ง พุ่งไปทางทิศตะวันออกโดยแรงไปตกที่ตำบลสนามไชย ปลายคานหาบยังดันดินไปเป็นเป็นทางยาว จนกลายเป็นลำคลอง เรียกว่าคลองรี (ตำบลสนามไชย คลองรี อยู่ในเขตอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) ส่วนไม้คานอีกข้างหนึ่ง นายแรงจับพุ่งไปทางทิศตะวันตกข้ามทะเลสาบสงขลา ผ่านบ้านลำปำบ้านควนมะพร้าว ปลายคานหาบไปชนยอดเขาลูกหนึ่งเข้าอย่างจังจนยอดเขาทะลุจึงมีชื่อเรียกว่า "เขาอกทะลุ” อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุงเป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองพัทลุงมาจนทุกวันนี้
ขอบคุณภาพข้อมูล : กระทรวงวัฒนธรรม
เปิดประวัติ...บ้านทุ่งแหลเหนือ ต.นาหมอศรี อ.นาทวี
16 กุมภาพันธ์ 2568 | 94ย้อนรอยเสด็จองค์ร.9 และราชินี ชมวิถีชีวิตผู้คนในอดีตผ่านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ
16 กุมภาพันธ์ 2568 | 97หลวงพ่อไชย กับตำนานปฏิหารย์ที่่วัดควนโส อำเภอควนเนียง
16 กุมภาพันธ์ 2568 | 108แหล่งน้ำเลี้ยงชีพ สู่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์สถานที่บนบานศาลกล่าว ณ บ้านหาร(บางกล่ำ)
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 154ชมสถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-ตะวันตก บนอาคารสถานีรถไฟสงขลา
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 274ถ้ำน้ำใส สถานที่ปฏิบัติธรรมและแหล่งรวมจิตในของชาวบ้านสะบ้าย้อย
9 กุมภาพันธ์ 2568 | 168ย้อนชม...มีดน้ำน้อย ภูมิปัญญาดั้งเดิม ของขึ้นชื่อบ้านน้ำน้อยในอดีต
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 217เปิดประวัติศาสตร์ การก่อร่างสร้างชุมชนบ้านคลองแงะ สะเดา
2 กุมภาพันธ์ 2568 | 244