หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ชวนเพื่อน "มาชักว่าวที่สงขลา" ทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของว่าวไทย และว่าวภาคใต้
11 ตุลาคม 2563 | 27,382

ว่าว จัดว่าเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันดีมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นการละเล่นและเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ราคาก็ไม่แพงมากนัก หรือถ้าสามารถทำเองได้ยิ่งประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะวัสดุที่ใช้ทำก็เป็นวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่าย แต่การทำต้องมีทักษะว่าวจึงจะขึ้นได้ดี เรียกว่าติดลม การเล่นว่าวมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มิได้เป็นการเล่นเพียงแต่สนุกสนาน เหมือนกับปัจจุบันนี้เท่านั้น มีประวัติและความเป็นมาที่น่าสนใจของตำนานว่าวไทย

ประวัติและความเป็นมาของว่าวไทย ย้อนไป ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ว่าวมิได้ใช้เฉพาะเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่มีการใช้ว่าวในการสงคราม คือตอนที่พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นกบฎ พระเพทราชาสั่งกองทัพไปปราบเมืองไม่สำเร็จ ในครั้งที่ 2 แม่ทัพอยุธยาคิดเผาเมืองอุบายหนึ่งนั้นใช้หม้อดิน บรรจุดินดำผูกสายป่านว่าวจุฬาไปถึงหม้อดินดำระเบิดตกไปไหม้บ้านเมืองจากประวัติศาสตร์ตอนนี้ปรากฏเป็นชื่อว่าวจุฬาเป็นครั้งแรก

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวยังคงเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมโดยเฉพาะรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนกีฬาเล่นว่าว มีการประกวดและแข่งขันว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า โดยมีกติกาการแข่งขันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การแข่งขันยุติธรรมและสนุกสนาน สถานที่เล่นว่าวในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันคือท้องสนามหลวง ส่วนในต่างจังหวัดก็นิยมเล่นตามที่โล่งกว้าง หรือตามท้องนาทั่วไป ซึ่งไม่มีต้นไม้เป็นที่ขัดขวางของการเล่น และสะดวกต่อการเล่น

ต่อมาประเทศมีการพัฒนา ผู้คนมากขึ้น ทำให้สภาพในเมืองหลวงหรือตัวเมืองในจังหวัดอื่น ๆ มีชุมชนแออัด สิ่งก่อสร้างตึกรามและสายไฟต่าง ๆ เป็นสิ่งกีดขวางของการเล่นว่าว ประกอบสภาพเศรษฐกิจทำให้คนต้องดิ้นรนทำมาหากิน ไม่มีจิตใจที่จะคิดสนุกสนานไปชมการเล่นว่าวได้ดังแต่ก่อน จึงทำให้วงการกีฬาว่าวซบเซาไประยะหนึ่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2526 ได้มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนได้ร่วมมือกันฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้นมาอีกครั้ง โดยการจัดงาน "มหกรรมว่าวไทย" ณ บริเวณท้องสนามหลวง มีการประกวดว่าวชนิดต่าง ๆ มากมาย ทั้งว่าวแผง ว่าวประเภทสวยงาม ประเภท ความคิด และว่าวตลกขบขัน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในงานนี้ด้วย และในปีต่อมา คือ พ.ศ.2527

ทางกรุงเทพมหานครก็ได้จัดงานนี้อีกเรียกว่า "งานประเพณีว่าวไทย" ณ ท้องสนามหลวง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ก็เสด็จฯเป็นองค์ประธานอีกครั้ง ส่วนสำคัญคือการประกวดว่าวภาพและการแข่งขันว่าวจุฬา กับว่าปักเป้า นอกจากนั้นมีนิทรรศการว่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ประชาชนได้ชม และในปีต่อ ๆ มาทางกรุงเทพมหานครก็ได้จัดงานประเพณีการเล่นว่าวขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาชมเป็นอย่างมาก ได้ความสนุกสนาน และเชียร์กันขณะมีการแข่งขันว่าว ณ บริเวณท้องสนามหลวง

ปัจจุบันว่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ 1. ว่าวแผง คือว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้าง และส่วนยาว ตัวอย่างเช่น ว่าวจุฬา ปักเป้า อีลุ้ม หรือว่าวรูปสัตว์ ต่าง ๆ  2. ว่าวภาพ คือว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษเพื่อแสดงแนวคิด ฝีมือในการประดิษฐ์ ที่สำคัญว่าวแต่ละภาคของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละภาค   

ภาคกลาง ว่าวที่เล่นกันมีรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแบบดั้งเดิม คือว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวหาง ว่าวอีแพรด ว่าวอีลุ้มส่วนรูปแบบใหม่ที่รับมาจากต่างประเทศ เช่น ว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวปลา ว่าวคน ว่าวผีเสื้อ
ภาคเหนือ ลักษณะของว่าวไทยภาคเหนือ แต่เดิมมีรูปแบบที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ โดยมีโครงทำจากไม้ไผ่ นำมาไขว้กันมีแกนกลางอันหนึ่ง และอีกอันหนึ่งโค้งทำเป็นปีกว่าว จะไม่ใช้เชือกช่วยในการทำโครงก่อน ใช้กระดาษปิดทับโครงไม้เลยทีเดียว รูปร่างของว่าวก็คล้าย ๆ กับว่าวปักเป้า ของภาคกลาง แต่ไม่มีหางและพู่และมีชนิดเดียว ไม่มีหลายประเภทเหมือนภาคกลาง ลักษณะของว่าวก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม โดยหา
ซื้อว่าวตามท้องตลาด ซึ่งเป็นว่าวรูปแบบใหม่ ๆ คือรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ว่าวงู ว่าวนก

ภาคตะวันออก ว่าวที่มีรูปแบบดั้งเดิม และรูปแบบที่เหมือนกับภาค อื่น ๆ ได้แก่ ว่าวอีลุ้ม ว่าวหาง ว่าวหัวแตก ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวกระดาษ และว่าวใบ มะกอกส่วนว่าวรูปแบบจากต่างประเทศไม่เป็นที่นิยมในภาคนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนส่วนมากนิยมเล่นว่าวพื้นเมืองกัน และว่าวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ ว่าวหาง หรือว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไปได้แก่ว่าวอีลุ้ม (หรือว่าวอีลุ่ม) ว่าวปลาโทดโทงและว่าวประทุน บางครั้งก็มีการแข่งขันในงานบุญ เช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ การแข่งขันว่าวนี้ตัดสินได้หลายอย่าง เช่น ว่าวสวย ว่าวที่ขึ้นได้สูงที่สุดหรือว่าวที่มีเสียงดังเพราะที่สุด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีจัดการแข่งขันว่าวเป็นกีฬาพื้นเมืองของจังหวัด

ภาคใต้  ในภาคใต้นี้มีว่าวเล่นกันจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตจังหวัดสงขลา มีว่าวที่มีรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น ว่าวนก ว่าวนกปีกแอ่น ว่าวนกยูง ว่าวปลาวาฬ ว่าวปลาปีกแอ่น ว่าวควาย ว่าวใบยาง และว่าวกระป๋อง หรือว่าวกระดาษ เป็นต้น ในเขตจังหวัดที่อยู่ใต้สงขลาลงไปนั้น ชาวบ้าน นิยมเล่นว่าววงเดือนอย่างเดียว ว่าวที่มีรูปแบบอื่น ๆ ไม่นิยมประดิษฐ์กัน และที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของภาคใต้คือ มักนิยมติดแอกหรือที่เรียก
กันว่าสะนู หรือธนู ไว้ที่ส่วนหัวของว่าว

ทั้งหมดจึงได้กล่าวว่าการละเล่นว่าวไทยถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่อดีต และถ่ายทอดมายังคนในปัจจุบัน ที่นำมาเล่นเพื่อความสนุกสนานและสามัคคีในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์

ขอบคุณภาพข้อมูล : ข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ฝ่ายอุทยานการศึกษาสำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

               

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง