วันนี้ หาดใหญ่โฟกัส จะมานำเสนอเครื่องครัวโบราณชนิดหนึ่งของไทย อันเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยในอดีต ที่เรียกว่า "ครกบด"
ครกบด หรือ เครื่องโม่แป้งโบราณ หนึ่งในเครื่องครัวที่นับวันจะหาดูได้ยากขึ้นทุกที เป็นเครื่องครัวที่อยู่คู่บ้านชาวไทยมาอย่างช้านาน โดยครกบดทำมาจากซีเมนต์หรือหิน มีรูปแบบหลากหลายขนาด ขนาดเล็กสุดก็ราว 45 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดก็มีขนาดเป็นสามเท่าของขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 135 เซนติเมตร
ครกบดจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวครกหรือหน่วยครกและฝาครก ตัวครก มีลักษณะเป็นฐานกลม เรียบ ด้านหนึ่งทำเป็นปากให้แป้งไหลลงสู่ภาชนะ และมีแอ่งหรือคลองโดยรอบเชื่อมเป็นระดับเดียวกับปากครก ช่วงกลางของตัวครกยกระดับสูงกว่าขอบครก ตรงหน้าตัดเซาะเป็นร่องหรือฟันตามแนวรัศมีและแนวขวาง ตรงกึงกลางหน้าตัดทำเป็นรูกลมสำหรับใส่เดือยยึดฝาครก ฝาครก ตรงกลางด้านล่างของฝาครกทำรูให้ได้ขนาดสวมรับกับเดือย และตรงหน้าตัดด้านล่างเซาะร่องเช่นเดียวกับตัวครก ด้านบนของฝาครกทำเป็นแอ่งสำหรับใส่ข้าวที่จะบด ตรงแอ่งเจาะรูทะลุฝาด้านล่างเพื่อให้ข้าวสารตกลงด้านล่างเพื่อบดแป้ง ถ้าเป็นครกขนาดเล็กจะเจาะรูสี่เหลี่ยมด้านข้างหนึ่งรูเพื่อใส่ไม้ทำเป็น “มือครก” เรียก “ครกมือเดียว” ถ้าเป็นครกขนาดใหญ่จะมีมือครกสองมือเรียก “ครกสองมือ”
วิธีการโม่แป้งโดยใช้ครกบด วางครกบดให้สูงกว่าพื้นดินประมาณ ๑ ศอก เพื่อให้สามารถวางภาชนะที่จะรับแป้งจากปากครกบดได้ ข้าวสารที่จะใช้โม่จะต้องแช่น้ำให้พอง หยอดข้าวที่พองแล้วลงรูด้านบนปากฝาครกและหมุนครก ข้าวสารที่บดแล้วจะค่อยๆ ออกมาที่บริเวณแอ่งหรือคลอง การหยอดข้าวสารนั้นถ้าหากหยอดข้าวสารมากเกินไป และมีน้ำผสมอยู่น้อยแป้งที่โม่จะแข้นหนืด ต้องหยอดน้ำช่วย ถ้าหยอดข้าวสารน้อยและใส่น้ำมาก แป้งจะเหลว ฟันครกบดจะเสียดสีกันมากอาจทำให้ซีเมนต์หรือทรายที่ฟันครกหลุด ผสมลงในแป้งได้ ครกบดนั้นเมื่อใช้งานเรียบร้อยแล้วจะต้องล้างให้สะอาด เพราะถ้าล้างไม่สะอาดแป้งจะติดค้างอยู่ตามฟันครกหรือเดือยครกเกิดการบูดเน่าได้
ครกบดเป็นเครื่องมือที่มีใช้กันแทบทุกบ้าน การที่มีครกบดทำให้บ้านทุกบ้านโม่แป้งมาใช้เองได้ ครกบดจึงถือเป็นเครื่องมือที่อยู่คู่กับครัวไทยมานาน ในปัจจุบันการใช้ครกบดได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากมีแป้งสำเร็จรูปขายตามท้องตลาดซึ่งหาซื้อได้ง่าย ครกบดจึงค่อยๆ หายไปจากครัวไทย
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ / หนูรี Gotoknow
ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 192พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 781รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 588เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 439ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 772เรื่องเล่าจากความทรงจำบ้านท่าแช สู่ตำบลคลองอู่ตะเภาในปัจจุบัน
2 มีนาคม 2568 | 681ความรู้คู่การเวลา...ศึกษาหนังสือบุดโบราณ ณ วัดยางทอง(สะเดา)
2 มีนาคม 2568 | 660