หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ประวัติศาสตร์...กำแพงเมืองสงขลา
7 ธันวาคม 2560 | 33,910

เมื่อพูดถึงเมืองสงขลา หลายคนคงจะนึกถึงกลิ่นอายบรรยากาศฮิปๆ บ้านเมืองเก่าๆ ถนนเก่าๆ ร้านอาหารเก่าๆ แต่ละร้านมักจะถูกออกแบบให้ดูโบราณเก๋ไก๋ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าเมืองสงขลาเป็นเมืองเก่าแก่ นอกเหนือจากสิ่งที่เราได้สร้างขึ้นมาใหม่ เราจะยังสัมผัสบรรยากาศแบบเรียลๆ ได้ที่ไหนอีกบ้าง นอกจากพิพิธภัณฑ์ ข้าพเจ้าก็จะขอแนะนำ "กำแพงเมืองสงขลา" ดูภายนอกผิวเผินอาจจะดูเป็นเพียงแค่กำแพงเก่าๆธรรมดาๆ แต่หากศึกษาลึกลงไปถึงแก่นประวัติศาสตร์ กำแพงแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจให้เราได้ศึกษามากมายเลยทีเดียว

"กำแพงเมืองสงขลา" เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ซึ่งคุณครูและอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ มักจะพานักเรียนและนักศึกษามาชม (ไม่ต้องเสียตังค์) และบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของกำแพงแห่งนี้ โดยกำแพงเมืองสงขลาถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2379 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระองค์โปรดเกล้าให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลา ณ ขณะนั้น ทำการย้ายเมืองจากแหลมสนมายังบ่อยาง กำแพงแห่งนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2385 (6ปี) การที่สร้างกำแพงล่าช้ามาจากสถานการณ์ที่หัวเมืองมลายูก่อกบฏ ในปี พ.ศ.2381 โดยกบฏมลายูยกทัพมาเผาเมืองจะนะ และเลยเข้ามาตีเมืองสงขลา

กำแพงเมืองสงขลาตั้งอยู่ห่างจากน้ำราว 40 เมตร กำแพงเมืองจากทิศตะวันออกถึงทิศตะันตกยาว 1,200 เมตร ด้านทิศเหนือถึงทิศใต้ยาว 1,000 เมตร  มีป้อมทั้งหมด 8 ป้อม มีประตูเมืองอยู่ 10 ประตู โดยประตูเมืองมีลักษณะเป็นซุ้มใหญ่ กว้าง 3 เมตร สูง 6 เมตร ซุ้มเป็นหลังคาแบบจีน โดยชื่อประตูเมืองสงขลาปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณ ได้แก่ 1.ประตูพุทธรักษา 2.ประตูสุรามฤทธิ์ 3.ประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ 4.ประตูอัศนีวุธ 5.ประตูชัยยุทธชำนะ 6.ประตูบูรภาภิบาล 7.ประตูสนานสงคราม 8.ประตูพยัคฆนามเรืองฤทธิ์ 9.ประตูจัณทิพิทักษ์ 10.ประตูมรคาพิทักษ์ 

ประตูสุรามฤทธิ์

หลังจากเวลาล่วงเลยผ่านไป กำแพงแห่งนี้ก็ทรุดโทรมและเสื่อมสภาพตามกาลเวลา แต่กำแพงเมืองสงขลาก็ได้มีการซ่อมแซมและบูรณะมาโดยตลอด แต่เมื่อครั้งพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นพระวิจิตรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา และเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2437 - 2448 ได้มีคำสั่งให้รื้อกำแพงเมืองสงขลา เพื่อนำอิฐจากกำแพงมาใช้สร้างและปรับปรุงถนน

ต่อมามีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ แผ่นศิลาจารึกเป็นลายเส้นและตัวเลขฝังอยู่ใต้ป้อม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น "ยันต์ 4" ใช้สำหรับไล่ภูตผีปีศาจ และทำลายวัตถุอาถรรพ์เวทมนต์ดำ และในปี พ.ศ.2554 เกิดพายุฝนที่รุนแรง ส่งผลให้กำแพงเมืองสงขลาพังทลายลง และได้รับการบูรณะให้กลับมาสภาพเดิม โดยกรมศิลปากร

 

 

CR: kotchkorn 2010 / สยามรัฐ