"วัดฉื่อฉาง" เกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว ที่วัดแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ เท่าที่จำได้ผมเกิดมาวัดแห่งนี้ก็มีอยู่แล้ว แต่ยังเกิดข้อสงสัยฉงนใจเล็กๆ ว่าทำไมวัดแห่งนี้ยังสร้างไม่เสร็จสักที มีการปรับปรุงแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดเป็นประเด็นคำถาม คำวิจารณ์ต่างๆนานามากมาย เมื่อเราเอ่ยถึงวัดแห่งนี้ ผมว่าคนหาดใหญ่จริงๆ ไม่มีใครไม่รู้จักวัดแห่งนี้อย่างแน่นอน แต่คุณรู้จักวัดแห่งนี้ "ดีแล้วหรือยัง?" วันนี้ หาดใหญ่โฟกัส จะพาทุกท่านไปรู้จักวัดแห่งนี้ให้ดีมากขึ้น
ทุกครั้งที่ขับรถมาหาข้าวกินบนถนนศุภสารรังสรรค์ ก็จะเหลือบสายตาปราสาทจีนหลังมหึมาทุกที ใช่แล้วนั่นคือ "วัดฉื่อฉาง" ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อเรียกติดปากว่า "ย่านฉื่อฉาง" มุมของกินที่มีชื่อเสียงมุมหนึ่งของหาดใหญ่ วัดแห่งนี้มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า "ฉื่อเสี่ยงหยี่" หากเราแปลเป็นภาษาไทยก็ได้ใจความว่า "วัดเมตตากุศล" ซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยในอดีตวัดแห่งนี้เป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ มีองค์เทพหลื่อโจ้ว (1ใน8เซียน) เป็นเทพประธาน คนทั่วๆไปเรียกศาลแห่งนี้ว่า "ศาลเจ้าหลื่อโจ้ว" ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2479 โดยนายเก็งตั๊ง แซ่เล้า ชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในเมืองหาดใหญ่
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2480 ได้มีการมอบถวายศาลเจ้าแห่งนี้ให้กับหลวงจีนง้วยจง พระภิกษุจีนที่เดินทางจาริกมาจากประเทศจีน เพื่อยกฐานะจากศาลเจ้าให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (วัดจีน) ปี พ.ศ.2491 หลวงจีนง้วยจงและนายซีกิมหยง (เจ้าของที่ดิน) ได้มีการปรึกษาหารือกัน เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดจีนแห่งนี้ขึ้นใหม่ และปี พ.ศ. 2506 นายซีกิมหยง ได้จัดการโอนที่ดินจำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 2 งาน ให้แก่หลวงจีนง้วยจงในที่สุด คณะสงฆ์จีนนิกายจึงได้มอบฉันทะให้กรมการศาสนาดำเนินการรับโอนจากนายซีกิมหยง และได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนับแต่วันนั้น
เมื่อปี พ.ศ.2531 เมืองหาดใหญ่เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้น วัดฉื่อฉางเองได้รับความเสียหายอย่างหนัก หนักจนถึงขั้นไม่สามารถซ่อมแซมได้ กรรมการวัดจึงมีมติรื้อวิหารหลังเก่าออกทั้งหมดในปี พ.ศ.2534 เพื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น โดยมีการวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างอุโบสถในปี พ.ศ.2539 กำหนดเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น โดยเป็นการออกแบบด้วยศิลปะ ไทย จีน และธิเบต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาร่วมเป็นประธาน
ภายในวิหารชั้นที่หนึ่งของวัดฉื่อฉาง มีทั้งองค์พระพุทธรูป และองค์เทพต่างๆมากมาย อาทิ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ องค์เทพกวนอู องค์เจ้าแม่กวนอิมพันกร ใครอยากสักการะและขอพร เรียนเชิญมาวัดแห่งนี้ได้ทุกวัน
สำหรับคำถามที่ว่ากันว่า...ทำไมวัดแห่งนี้ถึงสร้างไม่เสร็จ อันที่จริงแล้ววัดแห่งนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่เราเห็นก่อสร้างอยู่ทุกวันนี้ เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เท่านั้น เนื่องจากกระเบื้องที่นำมาติดเมื่อครั้งบูรณะครั้งแรกไม่ได้มาตรฐาน และไม่เข้ากับตัวอาคาร อีกทั้งหากมีพุทธศาสนิกชินเลื่อมใสบริจาคเงินมาสร้างวัด ก็จะมีการปรับปรุงอยู่ตลอดก็เท่านั้น
ปัจจุบันใครที่กำลังมองหาของกินในยามค่ำคืน "ย่านฉื่อฉาง" จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆ ของคนหาดใหญ่ และทุกครั้งที่ผ่านไปย่านนั้น ผมก็อดไม่ได้ที่จะมองไปยังวัดแห่งนี้ พร้อมมีคำถามในใจเสมอว่า "เมื่อไหร่จะเสร็จสมบูรณ์เสียทีนะ" แต่ลึกๆผมเชื่อเหลือเกิน ไม่ว่าวัดแหงนี้จะเสร็จสมบูรณ์หรือไม่ แต่ในใจของคนหาดใหญ่หลายๆคน วัดแห่งนี้ได้กลายเป็นวัดแห่งตำนานของเมืองหาดใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว ผมยกให้เป็น "หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์เมืองหาดใหญ่" อันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ และหากวัดแห่งนี้บูรณะเสร็จสมบูรณ์ ผมเชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นวัดจีนที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ที่ตั้งวัดฉื่อฉาง หาดใหญ่
เหตุอัศจรรย์ระหว่างการก่อสร้าง ธรรมสถานพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาเทียมดา)
12 มกราคม 2568 | 113เปิดตำนาน...ปู่เจ้าเขาเขียวแห่งสิงหนคร
12 มกราคม 2568 | 123ในหลวงรัชกาลที่9 กับการพัฒนาจังหวัดสงขลา
12 มกราคม 2568 | 122ย้อนประวัติจวนเจ้าเมืองสงขลา สมัยธนบุรี - รัตนโกสินทร์
5 มกราคม 2568 | 165พาชมพระสยามเทวาธิราชจำลอง 1 ใน 5 หัวเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
5 มกราคม 2568 | 150คนสงขลากับความเชื่อเรื่องทวด ที่ปรากฎในโองการทวดอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์จังหวัดสงขลา
5 มกราคม 2568 | 183ศาลาทวดสะบ้าย้อย ความศรัทธาสู่สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวสะบ้าย้อย
15 ธันวาคม 2567 | 301ที่มา...ชื่อบ้านสำนักขาม (สะเดา)
15 ธันวาคม 2567 | 264