สะพานไม้ไผ่ ทอดฝั่งฝันให้ก้าวเดิน เผชิญเรื่องราวอันมากมาย
มีดี และมีร้าย ประปรายบนสะพานไม้คลอนแคลน
บรรยากาศยามบ่ายนั่งฟังเพลงสบายอารมณ์ ได้ยินคำว่าไม้ไผ่ ในเนื้อเพลง สมองสั่งการให้นึกถึงต้นไผ่ขึ้นมาทันที ทั้งลำต้น หน่อ กิ่งก้าน และใบ ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น แต่พอนึกถึงใบไผ่นี่สิ..ขนมชนิดนี้ก็ผุดขึ้นมา
ขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้ที่มีรูปทรงสามเหลี่ยมสีเหลืองใสคล้ายข้าวต้มสามเหลี่ยม จะกินเปล่า ๆ ก็อร่อยนุ่มลิ้น หรือจะเพิ่มความหวานจิ้มน้ำตาลอ้อยอร่อยได้อีกแบบ หรือจะให้ถึงใจต้องนำใส่ในน้ำเชื่อมเติมน้ำแข็งลงไปรับรองจะติดใจ หลาย ๆ คนคงออกแล้วว่าขนมที่กล่าวมานี้ คือ ขนมซั้ง (อันนี้แถวบ้านผู้เขียนเขาเรียกกันแบบนี้) แต่ละพื้นที่อาจจะเรียกแตกต่างกันไป เช่น ขนมจ้าง , ขนมซัง , ขนมจั้ง, กี่จ่าง เป็นต้น
ดั้งเดิมเป็นขนมพื้นเมืองของประเทศจีน ต่อมาได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ เนื่องจากคนจีนสมัยก่อน ได้อพยพย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น บ้างก็ไปทำการค้า บ้างก็ไปทำงาน ดั่งคำกล่าว เสื่อผืนหมอนใบ ที่เรา ๆ เคยได้ยิน กระทั่งสืบทอดลงมายังภาคใต้บ้านเรา เสน่ห์และลักษณะที่ดีของขนมซั้ง คือ ต้องใสเหมือนแก้ว ไม่มีรสขม และเหนียวนุ่ม
วิธีการทำก็ง่ายมากๆ วันนี้มีฉบับย่อมาฝากกัน
1. การทำขนมซั้งนั้นยากตรงที่ไปหาใบไม้ใผ่ป่า อย่างอื่นก็ไม่ยาก
2. ล้างข้าวหนียวด้วยน้ำสะอาด 2 - 3 ครั้ง โดยไม่ต้องแช่ พอสะเด็ดน้ำก็นำด่าง (สมัยก่อน ทำน้ำด่างโดยใช้ งวงตาลแห้งมาเผาแล้วนำขี้เถ้ามาแช่ไว้สัก 5-6วัน จึงตักน้ำใส ๆ มาใช้ แต่สมัยนี้ หาซื้อได้ง่าย ๆ จากตลาด) มาคลุกให้ทั่ว
3. คลุกน้ำด่างให้พอข้าวเหนียวออกสีเหลือง และเม็ดข้าวนิ่ม ๆ พร้อมที่จะห่อมัดจั้งแล้ว
4. ตักหนึ่งช้อนลงกลางใบไม้ไผ่ ใช้สองมือโอบจีบหัวท้ายพับมุมหมุนพริ้วไปเป็นมุมสามเหลี่ยม แล้วดึงเชือกมามัด เมื่อได้ขนมจั้งพวงใหญ่
5. นำไปต้มในปี๊บเติมน้ำพอท่วม ประมาณ 4 ชั่วโมง การต้มนานจะช่วยให้ขนมเหนียวดีหลังต้มเสร็จทิ้งไว้สักครู่ รับประทานได้ทันที
มาแนะนำวิธีกินกันสักนิด
วิธีกินก็สามารถกินได้ตามแบบที่แต่ละคนชอบ บางคนแกะใส่ในน้ำเชื่อม แล้วโรยหน้าด้วยน้ำแข็งเย็น ๆ กินได้อร่อยชื่นใจดี หรือบางคนก็ใส่ในน้ำแข็งใส หรือจะกินแบบง่าย ๆ จิ้มกินกับน้ำตาลอ้อยก็อร่อยฟิน แต่น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้ ต้นไผ่ถูกรุกล้ำแทนที่ด้วยสวนยางพาราบ้าง สวนปาล์มบ้าง ดังนั้น วัฒนธรรมการกิน ขนมซั้งจึงเริ่มเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย
ขอบคุณภาพจาก : homeEST , คมชัดลึก , thummada.com , Pantip
เรียบเรียง : HatyaiFocus
ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 201พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 791รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 594เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 441ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 778เรื่องเล่าจากความทรงจำบ้านท่าแช สู่ตำบลคลองอู่ตะเภาในปัจจุบัน
2 มีนาคม 2568 | 686ความรู้คู่การเวลา...ศึกษาหนังสือบุดโบราณ ณ วัดยางทอง(สะเดา)
2 มีนาคม 2568 | 665