หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

โกรธไหม!! ใครเรียก เด็กบก ๆ
19 สิงหาคม 2560 | 11,679

**ภาพที่เห็นในบทความเป็นเพียงการเพิ่มอรรถรสในการอ่านเท่านั้น อาจไม่ใช่สถานที่จริงในบางส่วน**

วันนี้ทีมงาน  HatyaiFocus  จะนำทุกคนมาเข้าใจกับคำว่า บก เชื่อว่าหากใครได้ยินคำนี้คงหูร้อนแน่ ๆ..ลองคิดดูสิหากใครมาเรียกเราว่า...คนอะไรบกจัง เด็กบก ๆ หรือให้เจ็บจี๊ด เรียก โหฺมบก ( ห. หีบ ม. มอ โอ อ่านว่า โหม) เชื่อว่าคำนี้ หลายคนอาจจะเคยเขียนผิดเป็น โหม๋ อย่างแน่นอน ซึ่งคำว่า โหฺมบก มันอาจเป็นคำแสลงของใครหลายคน เพราะอาจมีความหมายคำนองว่า ไม่เจริญ ป่าเถื่อน ล้าหลังหรือเชย นั่นเอง

แต่วันนี้เพื่อความสบายหู สบายใจของผู้อ่านทุกท่านหากใครเรียกท่านว่า บก บอกเลยอย่าไปโกรธหรือน้อยใจเขาเลย เพราะที่มาของคำว่า บก หมายถึงแคว้นสทิงพระ บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอหัวไทรลงมาคลุมพื้นที่ทั้งหมดในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแคว้น คือ บริเวณที่เรียกว่า“แผ่นดินบก” เริ่มตั้งแต่เขตอำเภอระโนด ผ่านสทิงพระ มายังหัวเขาแดงในเขตอำเภอสิงหนคร

แคว้นนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญ เพราะเรือจากต่างประเทศสามารถแล่นเรือผ่านเข้าไปจอดตามเมืองต่าง ๆ ที่อยู่รอบทะเลสาบได้ บริเวณชุมชนที่สำคัญในระยะแรก ๆ คงอยู่ตามสันทรายแถวปากคลองจะทิ้งหม้อทางด้านทะเลสาบ มากกว่าด้านตะวันออกที่ติดกับอ่าวไทย ร่องรอยของโบราณวัตถุและโบราณสถานชี้ให้เห็นว่า แคว้นนี้ในระยะแรก ๆ นับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ สมัยหลัง ๆ ลงมามีการนับถือศาสนาพุทธ

พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่หัวเขาแดงผ่านอำเภอสทิงพระไปจนถึงอำเภอระโนด  ตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปจนถึงทวารวดีเป็น “เกาะ” มีชื่อเรียกเกาะนี้หลายชื่อ “เกาะใหญ่” ก็เรียก “เกาะบก”ก็เรียก “เกาะสทิงพระ”ก็เรียก บ้างก็เรียกว่า “เกาะปะการัง” และฝรั่งเขียนในแผนที่ว่า “เกาะแทนทาลั่ม” ที่ยกข้อความด้านบนมาอ้างเพื่อชี้ให้เห็นว่าทำไมเขาจึงเรียกชาวระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ รวมทั้งสิงหนคร ว่า คนบก เพราะแผ่นดินนี้เดิมเรียก แผ่นดินบก นั่นเอง

ส่วนอีกความหมายหนึ่งซึ่งเป็นด้านไม่ค่อยดีที่มาของคำว่า บก เนื่องจากสมัยก่อนแผ่นดินบกเป็นถิ่นทุรกันดาร เวลาจะเดินทางไปไหนต้องโดยสารทางเรือ หากน้ำขึ้นใช้เวลาประมาณ 10 - 12 ชั่วโมง หากวันไหนน้ำลดอาจใช้เวลาเป็นวัน เลยต้องนอนในเรือระหว่างเดินทางกว่าจะถึงฝั่งก็ส่งผลให้ผมเผ้ารุงรัง เสื้อผ้ายับยู่ยี่ อีกทั้งข้าวของที่ติดตัวมาของฝากบ้าง เสื้อผ้าบ้าง ทำให้ดูรกรุงรัง เมื่อเรือเข้าท่า ( ในเมืองสงขลา ) คนเมืองก็จะเรียกว่า โหฺมบก มาแล้ว เป็นการดูถูกถึงความไม่เจริญ เพราะคิดว่าในเมืองนั้นเจริญแล้ว

แต่ในปัจจุบันหากใครคิดว่า แผ่นดินบก หรือแถบระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ รวมทั้งสิงหนคร นั้นยังไม่เจริญบอกเลยคุณคิดผิด เพราะตอนนี้เต็มไปด้วยความเจริญการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยนากุ้ง และบ้านเรือนหลากหลายที่บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้เจริญกว่าในอดีตและที่สำคัญวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนบนแผ่นดินบกหรือ "คาบสมุทรสทิงพระ”จะมีความผูกพันกับ โหนด นา เล  ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนนานนับพันปี จวบจนถึงปัจจุบัน

 

ขอบคุุณภาพจาก : Gotoknow , Bloggang , Dek-D , วิถีโหนด-นา-เล , ท้าเที่ยวข้ามภาค.Com

ข้อมูล : ครูฑูรย์ ไพฑูรย์ ศิริรักษ์ , สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์

เรียบเรียง : HatyaiFocus

เรื่องที่เกี่ยวข้อง