"จระเข้" สัตว์ยุคดึกดำบรรพ์เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก เกิดขึ้นก่อนที่จะมีนุษย์อย่างเรา ๆ นับได้ว่า จระเข้ คือเป็นสัตว์โบราณเพียงไม่กี่ชนิด ที่ยังเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน
ในประเทศไทยมีการนับถือและบูชาจระเข้กันแทบทุกภาค ด้วยจระเข้เป็นสัตว์ดุร้าย กินเนื้อ และห่วงอาณาเขต ในอดีตคนไทยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ติดชายน้ำ ไม่แปลกเลยที่มักจะมีข่าวการทำร้ายให้คนจากเจ้าจระเข้ ในยุคต่อมา...มีการนำตำนานของจระเข้แต่ละพื้นที่ มาแต่งเป็นละครโทรทัศน์ เช่น ชาละวัน โคตรไอเคี้ยม ด่างบางมุด และด่างเกยชัย ล้วนแล้วแต่มีการแต่งเสริมเพิ่มเติมเนื้อเรื่องเพื่อให้เจ้าจระเข้มีความดุร้ายมากขึ้น
จังหวัดสงขลาเราก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานจระเข้อยู่หลากหลายเช่นเดียวกัน ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ จระเข้ที่คลองวง อ.เมือง จังหวัดสงขลา หรือจะเป็นตำนานจระเข้ผีสิง ที่วัดท่าแซ ในยุคต่อมาจากตำนานความโหดเหี้ยม แปรเปลี่ยนการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และรูปเคารพบูชา ดังที่คนใต้เรามักจะเรียกสัตว์ที่เราบูชาว่า "ทวด"
อำเภอระโนด หนึ่งในอำเภอของจังหวัดสงขลาเพียงไม่กี่อำเภอ ที่มีพื้นที่ติดกับทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย มีตำนานเกี่ยวกับพญาจระเข้น้ำเค็มที่มีชื่อว่า "ทวดนางเรียม" หรือ "ทวดคลองนางเรียม" มีสามีชื่อว่า "ทวดตาขุน" จระเข้ทั้งสองอาศัยอยู่บริเวณฝั่งอำเภอขวนขนุน จังหวัดพัทลุง แต่ต่อมา จระเข้ทวดตาขุน แอบไปมีเมียน้อยอยู่ที่ฝั่งบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เมื่อนางพญาจระเข้รู้เข้า จึงว่ายน้ำตามหาสามี แต่เนื่องด้วยเส้นทางที่นางออกตามหาไม่มีทางน้ำที่ให้นางว่ายผ่านไป นางจึงใช้ลำตัวและหัวมุดดำดิน เพื่อให้เกิดเป็นทางน้ำ จาก "ทะเลน้อย" ฝั่งควนขนุนไปโผล่ยัง "ทะเลสาบสงขลา" ฝั่งอำเภอระโนด ไม่ปรากฏเรื่องเล่าต่อว่านางพบกับสามีหรือไม่ แต่สิ่งที่พญาจระเข้ชื่อว่าเรียมทิ้งไว้ คือ ลำคลองที่เชื่อมต่อระหว่าง "ทะเลน้อย" และ "ทะเลสาบสงขลา" ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อคลองแห่งนี้ว่า "คลองนางเรียม"
ชาวบ้านยังเล่าต่อ ๆ กันว่า...วิญญาณพญาจระเข้ยังคงสิงสถิตอยู่ ณ ลำคลองแห่งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า นางพญาจระเข้ที่ชื่อว่า "เรียม" มีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้การเพาะปลูกและทำไร่ทำนาออกดอกออกผลดี และมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังบันดาลไม่ให้เกิดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยง ที่ชาวบ้านเลี้ยง และในสมัยก่อนคนที่อำเภอระโนดจะนิยมเดินทางไปซื้อวัวซื้อควาย ซื้อสัตว์เลี้ยง เพื่อทำการเกษตรที่จังหวัดพัทลุงหรือในพื้นที่ใกล้เคียง ขากลับจึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องต้อนฝูงสัตว์เหล่านั้นเดินผ่านข้ามคลองนางเรียม มีความเชื่อแต่ครั้งเก่าก่อนสืบทอดกันมาว่า “หากผู้ใดจะนำฝูงสัตว์ข้ามคลองนางเรียมต้องกระทำการบอกกล่าวให้ทวดคลองนางเรียมรู้เสียก่อน ด้วยการลอยหมากพลูขอขมาแก่ทวด ไม่เช่นนั้นฝูงสัตว์จะไม่เดินย่ำเท้าข้ามลำคลองเด็ดขาด”
ปัจจุบันคลองนางเรียม ยังเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ทั้งสองฟากฝั่งลำคลอง ตั้งแต่สัตว์ตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงควายตัวใหญ่ ๆ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศวิทยาแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลาและพัทลุง ใครว่าง ๆ ก็สามารถไปล่องเรือชมทะเลน้อย สักการะศาลาทวดนางเรียม และลัดเลาะคลองเรียมมายังทะเลสาบสงขลาได้นะครับ ปล.ไม่มีจระเข้นะ
ข้อมูลและภาพ : Pantip 1262247 / คุณคุณาพร ไชยโรจน์ / siamsouth
เรียบเรียง : หาดใหญ่โฟกัส Hatyaifocus
ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 192พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 781รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 588เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 439ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 772เรื่องเล่าจากความทรงจำบ้านท่าแช สู่ตำบลคลองอู่ตะเภาในปัจจุบัน
2 มีนาคม 2568 | 681ความรู้คู่การเวลา...ศึกษาหนังสือบุดโบราณ ณ วัดยางทอง(สะเดา)
2 มีนาคม 2568 | 660