ชาวสงขลาหลายคนรู้กันว่า เมื่อก่อนเราสามารถเดินทางจากหาดใหญ่ไปสงขลาด้วยรถไฟ หากใครขับรถผ่านเส้นทางสงขลาสายเก่าถนนกาญจนวานิช ที่บ้านน้ำน้อย ยังคงมีสะพานข้ามรถไฟน้ำน้อย เป็นหลักฐานสำคัญถึงการมีอยู่ของการเดินทางโดยเจ้ารถไฟ แต่ต้องยกเลิกเพราะรัฐบาลให้เหตุผลว่าขาดทุน กว่า 39 ปีที่ยกเลิก วันนี้ HatyaiFocus พาทุกคนมาย้อนความทรงจำ...ณ สถานีรถไฟสงขลา
หลังรัฐบาลสยามตัดสินใจก่อสร้างทางรถไฟ (มีการยื้อไม่ยอมการสร้างหลายรอบ) แต่ก็ต้องตัดสินใจก่อสร้างเพราะมองเห็นความจำเป็น เริ่มจากการสร้างทางรถไฟสายเหนือ ปี พ.ศ. 2452 เริ่มมีการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้จากเพชรบุรี - สงขลา แยกจากทางรถไฟสายใต้ที่ชุมทางหาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร
รัฐบาลสยามอาศัยเงินกู้จาก Federal Malay States (รัฐบาลอังกฤษที่มลายู) จำนวน 4 ล้านปอนด์ เพื่อแลกกับดินแดนไทรบุรี ตรังกานูและปะลิศ การก่อสร้างทางรถไฟสายใต้เริ่มจากเพชรบุรีลงไปสงขลาถึงหาดใหญ่ แยกไปปาดังเบซาร์ และสุไหงโกลก มาพัทลุง ทุ่งสง จนเชื่อมกันตลอดสาย
อาคารสถานีรถไฟสงขลา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เปิดเดินรถเพื่อการโดยสารและขนส่งสินค้า ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2456 ตั้งอยู่ที่ถนนปละท่า ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ถูกสร้างขึ้นหลังจากที่กรมรถไฟเปิดการเดินรถไฟ ระหว่างสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา - สถานีรถไฟสงขลา อาคารสถานีสงขลาสร้างด้วยเวลาไม่นาน เพราะมีการสร้างท่าเรือใกล้สถานีรถไฟ ทำให้การขนส่งเหล็กและอุปกรณ์ก่อสร้างต่าง ๆ ง่ายมากขึ้น
สถานีรถไฟสงขลาตอนสร้างเสร็จไม่นาน 31 สิงหาคม 2456 สมัยรัชกาลที่ 6
ภาพจากหนังสือ On Track: Henry Gittins - Railway Pioneer in Siam and Canada by Paul Gittins © River Books 2014
บริเวณสถานีรถไฟสงขลา ด้านหลังเป็นเขาตังกวน เห็นพระเจดีย์ ศาลาพระวิหารแดง อยู่บนเขา อาคารสถานีสงขลายังก่อสร้างไม่เรียบร้อย
หากย้อนกลับมาศึกษาทางรถไฟสายใต้จะพบว่าขณะนั้น สยามต้องการกระชับอำนาจการปกครองกับเมืองปักษ์ใต้ ให้มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลกลาง และเพื่อรักษาสมดุลของอังกฤษที่เข้ามามีบทบาทขยายอิทธิพลเข้ามาทางแหลมมลายู นี่จึงเป็นที่มาของการขยายสายรถไฟทั่วประเทศ
พ.ศ. 2510 - 2521 รถไฟเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของคนสมัยกว่า 50 ปีที่แล้ว ด้วยยังไม่มีตัวเลือกได้มากเท่าทุกวันนี้ เส้นทางรถไฟสงขลาจอดตามรายทางยิบย่อย สร้างความสะดวกให้ทุกคน ทั้งพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านทั่วไป นักเรียน นักศึกษาทุกชนชั้น
ถ่ายไว้เป็นที่ระลึก ญาติพี่น้องมาเจอกันที่สถานีรถไฟ
การขนส่งสินค้าสะดวกสบายด้วยรถไฟ
นักเรียนหลังเลิกเรียนใช้บริการรถไฟกลับบ้าน (ภาพนี้ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่)
อ.พุทธพร ส่องศรี เคยเล่าในบันทึกสองทะเลว่า รถไฟมีความสำคัญไม่น้อย เพราะมีการเดินรถไฟหลายเส้นทาง หาดใหญ่ - สงขลา สายสงขลา - กันตัง และ รถไฟสายสงขลา - พัทลุง อีกทั้งคนสงขลาสามารถเดินไปยังสถานีรถไฟบางกอกน้อย ขนาดองค์มนตรีคนสำคัญ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ต้องเดินทางจากสถานีรถไฟสงขลาไปยังกรุงเทพฯ ด้วยวิธีการนี้
บรรยากาศภายในรถไฟปี 2508 ผู้คนเบียดเสียดเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย
รถไฟสายหาดใหญ่ - สงขลา ในขณะนั้นคึกคักไม่เบา เพราะวิ่งวันละ 12 เที่ยว (ไป 6 กลับ 6) เมื่อออกจากหาดใหญ่ก็จอดรายทางตามป้ายหยุดรถต่าง ๆ รวม 10 ป้าย คือ ตลาดเทศบาล คลองแห คลองเปล เกาะหมี ตลาดน้ำน้อย บ้านกลางนา ตลาดพะวง น้ำกระจาย บ้านบางดาน และวัดอุทัย ก่อนสุดปลายทางที่สถานีสงขลา
ผู้คนระหว่างรอซื้อตั๋ว ณ สถานีรถไฟสงขลา
เมื่อพูดถึงราคาก็ไม่แพงมากนัก เพราะรถไฟชั้น 3 ราคาเพียง 3 สตางค์ เป็นกระดาษแข็งขนาดกระทัดรัด นับว่าโชคดีได้รับชม อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์ เป็นผู้เก็บรวบรวมเอาไว้ คนรุ่นเราแอบอยากรู้ว่าใช้เวลาในการเดินทางกี่ชั่วโมงระหว่างหาดใหญ่ - สงขลา แล้วกิจกรรมระหว่างนั่งบนรถไฟนั่นทำอะไรบ้างนะ?
บรรยากาศการนั่งรถไฟ ชิลล์ ๆ ไปเรื่อย ๆ
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : รายการระหว่างราง ทางรถไฟ ตอน 9 ย้อนรอยรถไฟสงขลา ,เสวนาวิชาการ 18 มิ.ย. 60 งานสมโภช 175 ปี ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา และเทศกาลเมืองเก่าสงขลา , Oxlaey , รายการทางรถไฟสายใต้ , นาย พุทธพร ส่องศรี , อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์ , มนัส กิ่งจันทร์ , ปริญญา ชูแก้ว , โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ,Disapong Netlomwong , สถานีรถไฟสงขลา
เขียนและเรียบเรียง : HatyaiFocus
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 77จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 86บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 146ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 217พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 834รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 622เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 481ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 801