จะนะสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-5) ในรัชกาลที่ 1 เมืองจะนะยังคงตั้งอยู่ที่บ้านท่าใหญ่ โดยมีนายเณรหรืออินทร์น้องชายพระยาพัทลุง(ขุน) พระอนันต์สมบัติ(บุญเฮี้ยว ณ สงขลา) พระมหานุภาพปราบสงคราม(ทิดเพชร) และพระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) ปกครองเมืองจะนะสืบเนื่องต่อกันมา
เมืองจะนะที่บ้านท่าใหญ่
เป็นเมืองจะนะที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงราวสมัยรัชกาลที่ ๓ ตัวเมืองตั้งอยู่บ้านท่าใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของคลองนาทวี ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลนาทวี อำเภอนาทวี และได้ตั้งวังเจ้าเมืองในบริเวณที่ตั้งของวัดในวังในปัจจุบัน มีเจ้าเมืองปกครองสืบเนื่องมาคือ นายเณรหรืออินทร์น้องชายพระยาพัทลุง(ขุน) พระอนันต์สมบัติ(บุญเฮี้ยว ณ สงขลา) พระมหานุภาพปราบสงคราม(ทิดเพชร) และพระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง)
เมืองจะนะที่ปลักจะนะ
พระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) ได้ย้ายเมืองจะนะจากท่าใหญ่มายัง "ปลักจะนะ" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าย้ายเมืองในปีใด โดยในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม4 ให้รายละเอียดว่าปลักจะนะคือชื่อเดิมของตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ที่ตั้งวังเจ้าเมืองจะอยู่ในบริเวณไหนนั้นไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือให้เห็นแล้ว ทั้งนี้เจ้าเมืองจะนะเมื่อครั้งตั้งเมืองที่ปลักจะนะก็คือพระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) และพระมหานุภาพปราบสงคราม(บัวแก้ว)
เมืองจะนะที่ตำบลคลองเปียะ
เมื่อเมืองจะนะที่ปลักจะนะถูกทำลายในสงครามสยาม-ไทรบุรี พ.ศ.2381 พระมหานุภาพปราบสงคราม(บัวแก้ว) ได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านในเมือง ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านในเมือง ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ เล่ากันว่าแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เรียกว่า "บ้านนายเมือง" โดยที่อยู่ของนายเมืองนั้นเรียกว่า "สายค่าย" ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณถนนพาดกับทางรถไฟสายใต้ โดยในปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยของของแนวคันดินซึ่งอาจใช้เป็นกำแพงเมืองด้านตะวันออก บริเวณริมคลองเฉียงพร้า และบริเวณริมทางรถไฟสายใต้
เมืองจะนะที่ตำบลจะโหนง
พระมหานุภาพปราบสงคราม(บัวแก้ว) ได้ย้ายเมืองจะนะไปตั้งที่ตำบลจะโหนง โดยไม่ปรากฏว่ามีการย้ายเมืองด้วยเหตุผลใด และต่อมาพระมหานุภาพปราบสงคราม(ปลอด ถิ่นจะนะ) ได้ปกครองเมืองจะนะที่ตำบลจะโหนงสืบต่อมาจนสิ้นสุดระบบเจ้าเมืองในพ.ศ.2439 ในปัจจุบันที่ตั้งเมืองจะนะที่ตำบลจะโหนงตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านในวัง ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ ร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏอยู่ได้แก่ วังเจ้าเมืองจะนะ , ทุ่งเมรุ หรือที่เรียกในภาษาใต้ว่า "ท่องเมรุ" , ที่อาบน้ำช้างของเจ้าเมือง , ในเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองวัดโคกทรายภายในวัดโคกทราย และ เหมืองสามคด
ขอบคุณภาพ/ข้อมูลบทความ : นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 163ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 155ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 164ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 292พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 373ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 403ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 537ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,593