เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าของ คุณกฤษณ์ พุทธกูล โดยได้บันทึกข้อความว่า บ้านผมอยู่ จ.สงขลา หากมีโอกาสเดินทางไป จ.ปัตตานี (ซึ่งมีระยะทางราว ๑๐๐ ก.ม.) ก็จะผ่านอำเภอหนองจิก
ก็ที่อำเภอหนองจิกนี้ เป็นบ้านเดิมของทวด (คือแม่ของคุณตา) ซึ่งสมัยนั้นที่นี้มีสถานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง (แต่ต่อมาได้ยุบสถานะลงเป็นแค่อำเภอ)ก็ที่เมืองหนองจิกนี้ มีวัดคู่บ้านคู่เมืองอยู่วัดหนึ่ง ชื่อว่า "วัดมุจลินทวาปีวิหาร" (ร.๕ พระราชทานนาม) ซึ่งเป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งเจ้าคุณแก้มดำเป็นผู้ตั้งเมือง แลวัดนี้ใช้เปนสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของขุนนางข้าราชการเมืองนี้ด้วยฯ
เมื่อขับรถมาถึงอำเภอหนองจิก ก็จะผ่านวัดมุจลินทวาปีวิหาร ซึ่งแยกเข้าไปทางซ้ายมือเพียงไม่กี่ร้อยเมตรก็จะถึงวัด วันหนึ่่งผมไปธุระที่ จ.ปัตตานี ขากลับก็แวะเข้าไปไหว้พระที่วัดมุจลินท์ฯ (ซึ่งที่นี่มีพระเกจิอาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายรูป อีกทั้งมีปูชนียวัตถุอันล้ำค่าด้วยฯ)
พอไหว้พระเสร็จอะไรเสร็จ ก็รู้สึกว่าอากาศกำลังเย็นสบาย เพราะเมฆฝนกำลังก่อตัวตั้งเค้า ก็นึกขึ้นว่า บรรพบุรุษเราเปนคนเมืองนี้ ไหน ๆ มาถึงที่แล้วก็น่าจะลองเดินเที่ยวป่าช้าวัดดูบ้าง เผื่อว่าอาจจะเจอสถูปของคนที่รู้จัก แต่คิดอีกทีก็ว่าคงไม่น่าจะรู้จักใคร เพราะช่วงอายุห่างกันเป็น ๑๐๐ ปี แต่สุดท้ายก็ลองเดินดู
หะแรกเดินไปดูที่หลังโบสถ์ ก็เห็นเป็นกลุ่มที่ตั้งของสถูปกลุ่มหนึ่ง เดินสำรวจเห็นบางสถูปก็มีชื่อ บางสถูปก็ไม่มีชื่อ จึงคิดว่าเป็นการยากที่เราจะรู้ว่าใครเป็นใคร แต่ทว่าในกลุ่มสถูปที่จารึกชื่อนั้น สำรวจแล้วก็พบคนที่รู้จักบ้างบางท่าน ซึ่งนับเปนญาติห่าง ๆ
ก็คิดว่าคงไม่พบอะไร พอจะเดินกลับ ก็มองไปยังอีกทิศหนึ่งที่ไกลออกไปราว ๑๐๐-๑๕๐ เมตร ก็เห็นเลา ๆ ว่าเป็นพื้นที่ที่ตั้งกลุ่มสถูปอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่เห็นแล้วสองจิตสองใจเพราะต้องเดินไกลไปอีก คนก็ไม่มี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเดินแหวกพงหญ้าเข้าไปดู พอเข้าไปถึง รู้สึกว่ามันเป็นสถานที่ที่เปลี่ยววังเวงพอสมควร (ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า ว่าคล้ายเป็นบริเวณที่มีพลังงาน) นี่ขนาดกลางวันยังรู้สึก อีกทั้งที่ตรงนั้นมีต้นไทรย้อยเก่าแก่โบราณขึ้นอยู่รอบทิศราว ๓-๔ ต้น มองขึ้นไปข้างบนครึ้มไปด้วยกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่แผ่คลุมเปนกำบังราวกับว่าเปนหลังคา หากเข้ามาเดินกลางคืนคงขนหัวลุก แต่นี่ดีที่เปนกลางวัน ยังพอขืนใจเข้าไปได้ ผมลองเดินสำรวจดู ที่ตรงนี้มีสถูปโบราณอยู่หลายหลัง มีชื่อบ้างไม่มีชื่อบ้าง สถูปอดีตเจ้าเมืองบางท่านก็ตั้งอยู่ที่นี่ฯ
ทว่าเดินดูแล้วก็ไม่เห็นคนที่ผมรู้จักเลย จนกระทั่งเดินเฉียดไปที่สถูปหนึ่ง พอมองลงไปเห็นชื่อที่จารึกอยู่ก็ดีใจ เหมือนสำเร็จเป้าหมายได้เจอคนที่รู้จัก และก็พอดีกับ ณ เวลานั้น ฝนที่ตั้งเค้าครึ้มอยู่แล้วก็ตกลงมาทันที ผมรีบตั้งจิตแผ่ส่วนกุศล แล้วจึงรีบเดินกลับออกมาก่อนที่ฝนจะเทลงมาอย่างหนัก
ก็สถูปที่ผมพบในคราวนั้น ก็คือสถูปของท่านในภาพนี้ โชคดีว่าผมมีรูปของท่าน จึงนำมาลงไว้ประกอบเรื่องเล่าได้ ท่านเป็นทวดของแม่ผม ก็คือเป็นตาของคุณตา ซึ่งท่านถึงแก่กรรมไปนานแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๒ นับถึงปัจจุบันก็ร่วม ๆ ๑๐๐ ปีแล้ว ผมก็ไม่คิดเหมือนกันในคราวนั้นว่าจะได้เจอ แลจากคราวนั้นผมยังคิดว่าที่ป่าช้าวัดมุจลินท์ฯนี้ คงจะมีกระดูกบรรพบุรุษเราที่เก็บหรือฝังอยู่ที่นี้อีกเป็นแน่ เพียงแต่เราไม่รู้ว่ามีใครบ้างและถูกฝังหรือเก็บอยู่ในสถูปไหนนั่นเองครับ...
อนึ่งการที่ผมได้มาเจอสถูปของท่านผู้นี้ ก็นับว่าโชคดีแล้วส่วนเรื่องราวของท่านนั้น ผมแทบจะไม่ทราบอะไรเลย เพราะคนเก่าคนแก่ที่รู้เห็นเกิดทันในสมัยนั้นก็ล้วนถึงแก่กรรมไปหมดสิ้นแล้ว ที่ทราบพอเป็นเรื่องเล่าเล็กน้อยก็มีบ้างเพียงว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์เป็นอย่างมาก แต่เก่งอย่างไรบ้างนั้นผมก็บอกไม่ได้
เล่ากันมาว่าท่านเคยเข้าไปตรวจสอบพิสูจน์วิชานรลักษณ์จากพวกนักโทษที่ถูกคุมขังในคุก เพื่อทดสอบความแม่นยำของตำราวิชาของท่าน และท่านได้คำนวณวันมรณะของตนเองเอาไว้ ครั้นพอวันที่กำหนดนั้นมาถึง ท่านยังสามารถสั่งให้คนไปนิมนต์พระมาสวดให้ท่านเองได้ แล้วจึงถึงแก่กรรมลงตามที่ท่านคำนวณไว้อย่างพอดีฯ
ขอบคุณภาพข้อมูลบทความ : กฤษณ์ พุทธกูล
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 163ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 155ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 164ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 292พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 373ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 403ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 537ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,593