หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

กว่าจะมาเป็นเมืองสะเดา มีชื่อตามภาษามลายูว่า สะดาห์ หรือซีดาห์
23 เมษายน 2566 | 6,741

วันนี้เราขอพาทุกท่านย้อนไปอ่านประวัติของเมืองสะเดา ตั้งแต่ประวัติแรกเริ่ม โดยคณะเทศมนตรีชุดแรกของเทศบาลตำบลสะเดาในสมัยนั้น (พ.ศ.2482) ประกอบด้วย ขุนวิเทศชนวิจารณ์เป็นนายกเทศมนตรี หมื่น ผาสุกเชิด และ นายทองคำ กาญจนโรจน์ เป็นเทศมนตรี นายเปลี่ยน บุญนวล เป็นปลัดเทศบาล ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่นายชาติ บุณยรัตพันธุ์ เป็นนายอำเภอ

สะเดา แต่เดิมเป็นตำบลเล็กๆ ขึ้นกับไทรบุรี มีชื่อตามภาษามลายูว่า สะดาห์ หรือซีดาห์

ผู้เขียนเรื่องราวนี้ที่ทาง หาดใหญ่โฟกัส นำมาเสนอ เขาเป็นเป็นชาวนาทวีโดยกำเนิด แต่มาอยู่ที่ อำเภอสะเดาตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2459 ได้เล่าว่า หลังจากตั้งเทศบาลมาแล้ว 7 ปี โดยมาอยู่ที่บ้านของขุนวิเทศชนวิจารณ์ อดีตนายด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดาและนายกเทศมนตรีตำบลสะเดา ที่บ้านของขุนวิเทศชนวิจารณ์นี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราษฎร์ระดับมัธยมในสมัยนั้น ชื่อว่าโรงเรียนสะเดามัธยมวิทยา โดยมีคุณเจริญ ณ สงขลา (อดีตเทศมนตรีตำบลสะเดา) เป็นเจ้าของและผู้จัดการ โรงเรียนนี้ได้เลิกกิจการมาแล้ว ประมาณ 60 ปี


ในสมัยนั้นขุนวิเทศชนวิจารณ์เป็นผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่ง เพราะที่ดินบริเวณ "ซอยเอี่ยมใจ" ทุกสาย ขยายออกไปทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นที่ดินของขุนวิเทศชนวิจารณ์ทั้งหมดรวมเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ และเหตุที่ได้ตั้งชื่อถนนว่า "ซอยเอี่ยมใจ" เพราะ ภรรยาของขุนวิเทศชนวิจารณ์ชื่อคุณนายเอี่ยมใจ ณ สงขลา ที่ดินดังกล่าวได้ขายให้คนอื่นไปหมดแล้ว คงทิ้งไว้แต่ชื่อถนน ซอย เป็นอนุสรณ์เท่านั้น ระยะเวลาต่อมาในช่วงนี้การศึกษาของเยาวชนที่สะเดายังไม่เจริญพ่อแม่หรือผู้ปกครองส่วนมากไม่ค่อยมีส่วนส่งเสริมหรือสนับสนุนให้บุตรหลานของตนเรียนต่อในชั้นมัธยมหลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ชั้นประถมสูงสุดในขณะนั้น) ทั้งนี้เพราะไม่มีโรงเรียนระดับชั้นมัธยมประจำอำเภอ หากต้องการเรียนต่อก็ต้องไปเรียนที่ตัวจังหวัด ซึ่งห่างไกลออกไปถึง 70 กิโลเมตร

การคมนาคมไปมาหาสู่กันก็ไม่สะดวก มีถนนสายหลัก ๆ อยู่เพียง 3 สาย คือสายสะเดา – หาดใหญ่ สายสะเดา – ปาดังเบซาร์ และสายสะเดา - ด่านนอก มีรถยนต์วิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่เพียงสายละ 2-3 คัน เท่านั้น ยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ อาคารบ้านเรือน และร้านค้าในตัวตลาดยังใช้ตะเกียงเจ้าพายุให้แสงสว่าง บริเวณรอบ ๆ ตัวตลาดสะเดาเป็นสวนยางและป้าไผ่ ไม่มีบ้านเรือนและตึกรามบ้านช่องอยู่กันหนาแน่นเหมือนอย่างปัจจุบันนี้


โดยทางผู้เขียนเรื่องราวนี้ ได้ย้ายมาอยู่สะเดาในสมัยที่นายผาสุข ช่างชุม เป็นนายกเทศมนตรี นายยอด มณีรัตน์ และ นายประศาสน์ อุดมศักดิ์ เป็นเทศมนตรี นายเจิม ปาณชู เป็นปลัดเทศบาลฝ่ายอำเภอ มี ร.ต.อ.หวน มุตตาหารัช เป็นนายอำเภอ ร.ต.อ.วิชัย ตุมรสุนทร เป็นผู้บังคับกองตำรวจภูธร นายสุภัทร คลี่ขจาย เป็นนายด่านศุลกากรและ ร.ต.อ.ไพโรจน์ อุณหชาติ เป็นหัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองสะเดา

โดยเฉพาะคนหลังสุดถูกโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาจับตัวไปที่ริมชายแดนไทย - มาเลเซีย ใกล้ด่านพรมแดนสะเดา (ฝั่งมาเลเซีย) เมื่อปี พ.ศ.2490 ในสมัยนายชูชัย สุวรรณรังสี เป็นนายอำเภอ และหายสาบสูญไปจนกระทั่งบัดนี้ เชื่อว่า มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน.

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง