กาลเวลา...คือ สิ่งที่ไม่มีใครสามารถควบคุมและหยุดยั้งได้ กาลเวลาทำให้หลาย ๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไป จังหวัดสงขลาเป็นอีกเมืองหนึ่ง ที่มีการแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตึกรามบ้านช่อง อาคาร ห้างร้างต่าง ๆ มีการปรับปรุงพัฒนาไปตามยุคสมัย บ้างเปลี่ยนแล้วดีขึ้น แต่บางอย่างก็รมีความรู้สึกเสียดาย ไม่น่าเปลี่ยนไปเลย ยกตัวอย่าง เช่น อาคารบ้านเมืองในหาดใหญ่ แต่เดิมเป็นลักษณะบ้านไม้หลังคากระเบื้องดินเผาโบราณและตึกทรงชิโนโปรตุกีส สุดท้ายก็โดนแปรสภาพ เป็นอาคารสมัยใหม่ (Townhouse และ Townhome) สุดท้ายพอกระแสหวนความหลัง (Hipster) เกิดขึ้น เราก็กลับคิดเสียดายสิ่งเหล่านั้นที่เราได้ทำลายมันไป วันนี้หาดใหญ่โฟกัสจะมาบอกเล่าเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดสงขลา หากใครมีเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับการผันเปลี่ยนของบ้านเราก็คอมเมนต์ ส่งข้อมูลมาได้
1. สถานีอู่ตะเภา เปลี่ยนเป็น สถานีชุมทางหาดใหญ่
"สถานีอู่ตะเภา" แต่เดิมเคยเป็นสถานีรถไฟแห่งแรกของหาดใหญ่ บริเวณแถบลุ่มคลองอู่ตะเภา แต่ด้วยพื้นที่ของสถานีดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม มีปัญหาน้ำท่วมขังบ่อย จึงต้องย้ายสถานีมายังสถานีโคกเสม็ดชุน และเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีชุมทางหาดใหญ่ในเวลาต่อมา
2. ห้างสรรพสินค้าหาดใหญ่ซิตี้ เปลี่ยนเป็น ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน
ห้างสรรพสินค้าหาดใหญ่ซิตี้ เป็นห้างสรรพสินค้าแรก ๆ ของเมืองหาดใหญ่ มีทั้งโรงภาพยนตร์ ร้านฟ้าสต์ฟู้ดอย่าง KFC, Burger King และสินค้าแบรนด์ดังมากมาย ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน
3. โรงเรียนมัธยมชาย เปลี่ยนเป็น โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย หรือ ญ.ว.
โรงเรียน ญ.ว. โรงเรียนมัธยมชื่อดังเมืองหาดใหญ่ แต่เดิมเคยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอหาดใหญ่" เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2488 ชื่อว่า โรงเรียนหาดใหญ่ อักษรย่อ ส.ข.3 เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาโรงที่ 3 ของจังหวัดสงขลา ในระยะต้นเปิดรับเฉพาะนักเรียนชาย จึงเรียติดปากกันว่า โรงเรียนมัธยมชาย หรือ มอชาย ต่อมาในปี พ.ศ.2513 เริ่มเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้เพิ่มคำว่า"วิทยาลัย"ต่อจากชื่อเดิมเป็น ชื่อ "โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย" ใช้อักษรย่อว่า ญ.ว.
4. โรงแรมราชธานี เปลี่ยนเป็น โรงแรมรถไฟหาดใหญ่
โรงแรมหาดใหญ่หรือโรงแรมราชธานี เปิดบริการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 โดยบริษัทวิศวกรรมโกวิทจำกัด ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง ในราคา 7,630,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จใน 390 วัน โรงแรมแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2510 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2511 และเพิ่งจะปรับปรุงและเปิดโรงแรมใหม่เป็นโรงแรมรถไฟหาดใหญ่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
5. ถนนเจียกีซี เปลี่ยนเป็น ถนนธรรมนูญวิถี
ถนนเจียกีซี คือ ถนนเส้นแรกของเมืองหาดใหญ่ และรัฐบาลสั่งให้เปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมา กลายเป็นถนนธรรมนูญวิถีในทุกวันนี้
6. โรงภาพยนตร์พลาซ่า เปลี่ยนเป็น หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่
อีกหนึ่งโรงภาพยนตร์ยุคกลางของเมืองหาดใหญ่ ได้รับความนิยมในช่วง พ.ศ.2520 - 2535 (ราว ๆ นั้น) ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของหอนาฬิกาเมืองหาดใหญ่ ต่อมาก็พ่ายแพ้ต่อโรงภาพยนตร์ในเครือโคลีเซียมรูปแบบใหม่ ๆ อย่างย่อยยับ และได้ปิดตัวลงไป สุดท้ายทางเทศบาลนครหาดใหญ่ก็ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่บริเวณโรงหนังเป็นหอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่
7. วัดโคกเน่า เปลี่ยนเป็น วัดโคกนาว
สมัยก่อนเรียก " โคกเน่า " เพราะเคยมีการฝังศพกันเป็นจำนวนมาก เเต่ปรากฏว่ามีน้ำท่วมขังในบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านเลยจำต้องนำศพไปผูกติดเอาไว้กับกิ่งไม้ใหญ่ บ้างก็ว่ามีนายพรานหลายคนไปยิงสัตว์ในโคกเน่า ถูกซากศพที่เน่าเปื่อยตกใส่จนขวัญหนีตาม ๆ กันไป ต่อมาจากคำว่า "โคกเน่า" ก็เพี้ยนมาเป็น "โคกนาว" จะตั้งใจหรือไม่ ผู้เขียนก็ไม่สามารถทราบได้
8. โรงเรียนสตรีประจำอำเภอหาดใหญ่ เปลี่ยนเป็น โรงเรียนหาดใหญ่สมบูรณ์กุลกัลยา
โรงเรียนแห่งนี้ใช้ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่ 3 งาน 25.6 ตารางวาเป็นที่ก่อตั้งโรงเรียน โดยสถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ "โรงเรียนสตรีประจำอำเภอหาดใหญ่" ซึ่งนายจันทร์ สมบูรณ์กุล นายอำเภอหาดใหญ่สมัยนั้นเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในปี พ.ศ.2487 ในปี พ.ศ.2497 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสตรีหาดใหญ่สมบูรณ์กุลกันยา เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายจันทร์ สมบูรณ์กุล และเวลาต่อมา...กระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศจัดตั้ง "โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา" และใช้ชื่อดังกล่าวจวบจนปัจจุบัน
9. มหาวิทยาลัยภาคใต้ เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2510 ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานชื่อตามนามพระบิดาของพระองค์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2510
10. โรงแรมสุคนธา เปลี่ยนเป็น โรงแรมเซ็นทรัลสุคนธา และเปลี่ยนเป็น โนโวเทล เซ็นทารา
โรงแรมสุคนธา โรงแรมมาตรฐานสากลระดับประเทศแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ใช้งบประมาณไปกว่า 45 ล้านบาท โรงแรมสุคนธาเปิดบริการเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2515 เรียกได้ว่าเป็นโรงแรมที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ ณ เวลานั้นเลยทีเดียว ต่อมา มีข่าวลือต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าถูกทุบ บ้างก็ว่าถูกระเบิดทิ้ง บ้างก็ว่ารื้อทิ้ง มีการก่อสร้างโรงแรมและห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ ชื่อว่า "เซ็นทรัลสุคนธา" สร้างโดยบริษัทต่างชาติ รู้สึกว่าจะเป็นบริษัทจากประเทศออสเตรเลีย (ผู้สร้างนภาลัยคอนโด) เซ็นทรัลสุคนธา ใช้เทคนิคใหม่ในการก่อสร้าง ที่ไม่เคยใช้ในประเทศไทยมาก่อนคือ "Top-Down construction" ปัจจุบันใช้ชื่อว่า "โนโวเทล เซ็นทารา"
11. วิทยาลัยเทคนิค เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย
มหาวิทยาลัยติดชายทะเลแห่งนี้ แต่เดิมใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้" สังกัดกรมอาชีวศึกษา
12. โรงแรมสมิหรา เปลี่ยนเป็น โรงแรม บีพี สมิหลา
โรงแรมชื่อดังของเมืองสงขลา เป็นโรงแรมหรูระดับมาตรฐานเพียงไม่กี่แห่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณติดชายทะเล
13 Sugar Beat เปลี่ยนเป็น Zystem
ซูการ์ บีท สถานที่สุดมันส์ของเด็กวัยรุ่นช่วงปี พ.ศ.2550 โดยเฉพาะเด็ก ม.อ. ที่มักจะนัดเพื่อนสนิทมิตรสหายมารวมตัว เพื่อสังสรรค์และออกสเต็ปท่าทางกัน บ่างคนเจอคู่รักที่นี่ บางคนกินเหล้าครั้งแรกที่นี่ และบางคนก็มีเรื่องที่นี่ หลังจาก Sugar beat ปิดตัวลงไป ผู้มารับช่วงต่อก็คือ The Zystem (เครือ Zound)
14. ห้างคาร์ฟู เปลี่ยนเป็น ห้างบิ๊กซีเอ็กตร้า
ห้างสรรพสินค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองหาดใหญ่ คู่แข่งตัวสำคัญของห้างเทสโก้โลตัส ก่อนจะถูกผู้ก่อการร้ายวางระเบิดบริเวณหน้าห้าง ซึ่งตอนนั้นก็เป็นข่าวใหญ่โตระดับประเทศ ต่อมาห้างบิ๊กซี ก็เข้ามาเทคโอเวอร์ห้างคาร์ฟู และเปลี่ยนชื่อเป็นบิ๊กซี เอ็กตร้า แต่ใครหลายคนยังเรียกห้างนี่ว่า "คาร์ฟูเก่า" อยู่เช่นเดิม
15. ถนนเก้าห้อง เปลี่ยนเป็น ถนนนางงาม
"ถนนเก้าห้อง" เป็นชื่อดั้งเดิมของ "ถนนนางงาม" ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2385 เมื่อครั้งตั้งหลักเมืองสงขลาใหม่ ๆ หลังย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสนมายังฝั่งตะวันออก (บ่อยาง) ที่ได้ชื่อ "เก้าห้อง" เนื่องจากถนนสายนี้มีบ้านอยู่ 9 คูหา และได้เปลี่ยนชื่อจาก ถนนเก้าห้อง มาเป็นถนนนางงาม สาเหตุเพราะ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเฉลิมฉลองและมีการประกวดนางงามสงขลาขึ้นเป็นครั้งแรก
16 แหลมสมิหรา เปลี่ยนเป็น แหลมสมิหลา
***เปลี่ยน ร เป็น ล เมื่อไหร่ไม่ทราบได้
17. เขาเก้าแสน เปลี่ยนเป็น เขาเก้าเส้ง
มีตำนานเล่าถึงเขาเก้าเส้ง หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า “หัวนางแรง” ว่า “ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา จากนั้นนายแรงก็กลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง” ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า“หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้”
18. ห้างสรรพสินค้าจุลดิศ เปลี่ยนเป็น อาคารสำนักงานจุลดิศ
ห้างสรรพสินค้ายุคแรก ๆ อีกแห่งหนึ่ง เป็นห้างที่ได้รับความสนใจจากชาวหาดใหญ่ค่อนข้างสูง ในช่วงเปิดห้างใหม่ ๆ โดยเฉพาะโซนของเล่นที่ประกอบไปด้วยเครื่องเล่นเกมชนิดต่าง ๆ มากมาย อาทิ ตู้เกมส์ เครื่อง Super family อีกทั้งภายในห้างยังมีสินค้าแบรนด์เนมมากมาย แต่ห้างจุลดิศเปิดบริการได้ไม่นาน ก็ตกต่ำลงอย่างไม่น่าเชื่อ อาจจะเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจและทางเดินที่ค่อนข้างแคบ อีกทั้งไม่มีโซนอาหาร สุดท้ายห้างจุลดิศก็ปิดตัวลงไป และเปิดเป็นอาคารสำนักงานให้บริษัทใหญ่ ๆ มาเช่า
19. โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา เปลี่ยนเป็น โรงเรียนอำนวยวิทย์
โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ ถือเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของเมืองหาดใหญ่ เดิมทีชื่อว่า "โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา" และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์" ราวปีพ.ศ. 2498
20. ศาลาโฟร์โมสต์หน้าโรงเรียนแสงทอง เปลี่ยนเป็น ร้านซักอบรีด ร้านขายอุปกรณ์ตกเบ็ด
มันไม่ใช่ศาลาโฟร์โมสต์ชื่อดังแถวย่านเอกมัยแต่อย่างใด ศาลาโฟร์โมสต์แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนแสงทองวิทยา ในเวลาช่วงเช้าและช่วงเย็น คุณจะเห็นเด็กนักเรียนชายจำนวนมาก กำลังเลือกซื้อของเล่นรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ร้านแห่งนี้กลายเป็นเพียงตำนานและความทรงจำของใครหลายคน ที่เกิดทันในยุคนั้น
21. ปั๊ม ESSO หน้ากรีนเวย์ เปลี่ยนเป็น ตลาดนัด HY Square
ปั๊มน้ำมันที่แต่ก่อนเคยมีคนใช้บริการค่อนข้างเยอะ เพราะแถวคลองเรียนมีปั๊มเพียงไม่กี่แห่ง ก่อนจะปิดบริการลงไป ปัจจุบันแปรเปลี่ยนเป็น "HY Square" ตลาดเปิดท้าย แนวสไตล์โมเดิร์น
22. ร้านวังไฟฟ้า เปลี่ยนเป็น เซ็นทรัลเฟสติวัล
ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองหาดใหญ่ มีรูปแบบการตกแต่งร้านที่สวยงาม ร้านแห่งนี้เคยตั้งอยู่บริเวณลานหน้าเซ็นทรัลเฟสติวัล
23. วังน้ำดำหรือบึงน้ำดำ เปลี่ยนเป็น ตลาดนัดกรีนเวย์
วังน้ำดำ หรือ บึงน้ำดำ แต่เดิมเคยเป็นสถานที่ ที่บรรดาพวกเล่นของ คุณไสย์ และมนต์ดำ มักจะมาปล่อยของกันบริเวณบึงแห่งนี้ ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงบึงบริเวณนี้จึงถูกกลบ เปลี่ยนแปลงเป็นสนามกอล์ฟ และตลาดกรีนเวย์ในท้ายที่สุด
24. อำเภอปละท่า เปลี่ยนเป็น อำเภอสทิงพระ
ตามหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ และพงศาวดาร กล่าวว่า "เมืองสทิงพระ" คือ เมืองพัทลุงเก่า ซึ่งสันนิษฐานจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ได้แก่ ซากกำแพงเมือง คูเมือง สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้ น่าจะถูกกองทัพมลายูโจมตีครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา โบราณสถานต่าง ๆ ไม่สามารถบูรณะได้ จึงถูกทิ้งร้างไว้จนปี พ.ศ.2437 มีการยกฐานะเป็นอำเภอปละท่า ต่อมากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชปักษ์ใต้ เห็นว่าการคมนาคมไม่สะดวก จึงยุบอำเภอปละท่า เป็นกิ่งอำเภอปละท่า เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอจะทิ้งพระ ในช่วงปี พ.ศ.2460 และทางราชการได้ยกฐานะกิ่งอำเภอจะทิ้งพระขึ้นเป็นอำเภอจะทิ้งพระ อำเภอแห่งนี้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี พ.ศ.2504 เป็น "อำเภอสทิงพระ"
25. อำเภอรัฐภูมี เปลี่ยนเป็น อำเภอรัตภูมิ
แต่เดิมอำเภอรัตภูมิเป็นส่วนหนึ่งในเขตปกครองของอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.2435 เรียกว่า "อำเภอรัฐภูมี" เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณปากน้ำของ "คลองรัฐภูมี" ต่อมามีการย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ตำบลกำแพงเพชร ซึ่งเป็นตำบล 1 ใน 5 ของอำเภอรัตภูมิ โดยเรียกชื่อว่า "อำเภอกำแพงเพชร" แต่เนื่องชื่อไปเหมือนกับจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ.2480 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งว่า "อำเภอรัตตภูมิ" แต่มันไม่ความหมาย จึงเปลี่ยนใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2504 ว่า "อำเภอรัตภูมิ" แปลว่า "พื้นที่ดินแดง" ซึ่งตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากดินของอำเภอรัตภูมิส่วนมากจะเป็นดินสีแดงละเอียดและมีแร่ธาตุอาหารสำหรับพืช
26. วัดกลาง วัดยายศรีจันทร์ เปลี่ยนเป็น วัดมัชฌิมาวาส
เมื่อ 400 ปีมาแล้ว ยายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลา ได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ประชาชนพากันเรียกว่า "วัดกลาง" หรือ "วัดยายศรีจันทร์" และต่อมาใน พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จเมืองสงขลา ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นภาษาบาลีว่า วัดมัชฌิมาวาส
27. ถนนไทรบุรี เปลี่ยนเป็น ถนนกาญจนวนิช
เมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้น สงขลามีถนนสายหลักคือถนนไทรบุรี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ราว พ.ศ. 2405 จากริมกำแพงวัดไทรงามไปยังเมืองไทรบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตัดถนนรามวิถีตามแนวกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันออก ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสร้างทางรถไฟมาถึงสงขลาในปี พ.ศ. 2456 ...ถนนรามวิถีนี้ไปบรรจบกับถนนไทรบุรีที่บริเวณหน้าวัดหัวป้อมนอกเป็นอันสิ้นสุด ส่วนถนนไทรบุรีนั้น เมื่อข้ามคลองสำโรง ออกนอกเขตเทศบาลสงขลาแล้ว ก็ตั้งชื่อว่าถนนกาญจนวนิช เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาประกิตกลศาสตร์ (ประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์) อดีตนายช่างด้านสงขลา ถนนเส้นนี้ผ่านสามแยกคอหงส์ ไปถึงอำเภอสะเดาไปสิ้นสุดที่คลองพรวน ชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมระยะทางทั้งสิ้นตั้งแต่ตัวเมืองสงขลาถึงชายแดน 84 กิโลเมตร
28. พระเจดีย์สูงสุดหมอก เปลี่ยนเป็น พระเจดีย์เขาตังกวน
คนแก่ ๆ มักเรียก พระเจดีย์บนเขาตังกวนว่า เจดีย์สูงสุดหมอก เนื่องจากในช่วงเช้าตรู่เขาตังกวน มักจะมีหมอกปกคลุมอยู่บริเวณยอดเขาอย่างหนาแน่น กาลเวลาผ่านไปคนก็เริ่มลืมเลือนชื่อนี้ และด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป หมอกที่ปกคลุมยอดก็เบาบางน้อยลงไป
29. เมืองซิงกอรา เปลี่ยนเป็น เมืองสงขลา
ในเอกสารที่บันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลา ได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองสงขลาว่า มาจากบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ในนามของเมือง “ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา” แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า “เมืองสิงขร” ได้สันนิษฐานว่าคำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สิงหลา” หรือ “สิงขร” แปลว่าเมืองสิงห์ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดีย ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แล่นเรือผ่านมาค้าขายและแลเห็นเกาะหนูเกาะแมว ซึ่งเมื่อมองจากทะเลเข้าหาฝั่งในระยะไกล ๆ จะเห็นปรากฏเป็นภาพคล้ายสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองสงขลาในสมัยนั้นว่า “เมืองสิงหลา”
30. ร้านเหล้า Co Art เปลี่ยนเป็น ร้านอาหาร Homeless
หากคุณรักในเสียงดนตรีและบทเพลงสากล สักช่วงราว ๆ 5-6 ปีที่ผ่านมา เราแนะนำว่าคุณไม่ควรพลาดที่จะไปนั่งชิวที่ร้าน Co-Art ภายในร้านจะบรรเลงบทเพลงแนว Country และ แนว Jazz ที่จะทำให้คุณได้ผ่อนคลาย พร้อมจิบเครื่องดื่มที่ทำให้คุณออกอาการกรึ่ม ๆ เล็กน้อย แต่!! ขอบอกว่าร้านแห่งนี้ได้ปิดตัวลงไปสักระยะนึงแล้ว ร้านดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนเป็นร้านอาหารสไตล์ฝรั่งที่น่าหลงใหล ทั้งบรรยากาศสุดคลาสสิกของร้าน และรสชาติของอาหาร ที่พร้อมจะเสิร์ฟให้คุณอิ่มอกอิ่มใจ นั่นคือ ร้าน Homeless
***สุดท้าย...อำเภอเหนือ เปลี่ยนเป็น อำเภอหาดใหญ่
ปล. ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง ใครมีอะไรเพิ่มเติม ใส่ได้ในคอมเม้นเดี๋ยวจะเพิ่มเติมให้
เขียนและเรียบเรียง: หาดใหญ่โฟกัส Hatyaifocus
ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 192พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 781รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 587เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 439ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 772เรื่องเล่าจากความทรงจำบ้านท่าแช สู่ตำบลคลองอู่ตะเภาในปัจจุบัน
2 มีนาคม 2568 | 681ความรู้คู่การเวลา...ศึกษาหนังสือบุดโบราณ ณ วัดยางทอง(สะเดา)
2 มีนาคม 2568 | 660