***บทความนี้สร้างมาเพื่อความบันเทิง ภาพบางส่วนเป็นเพียงภาพประกอบการเล่าเรื่องให้ได้อรรถรสมากขึ้นเท่านั้น
วันก่อนทีมงานหาดใหญ่โฟกัสมีการสืบค้นประวัติเกี่ยวกับวัดโคกนาว และไปเจอบทความ Online ที่น่าสนใจบทความหนึ่ง เป็นของคุณอาคุณาพรอีกแล้วครับท่าน บทความดังกล่าวมีความน่าสนใจ ตรงที่มันเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของเมืองหาดใหญ่บ้านเรา เนื้อหาของเรื่องราวดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับป่าช้าโคกเน่า ป่าช้าในตำนาน จุดเริ่มต้นของเรื่องราวหลอกเด็กอย่าง "คุณยายสปีด" วันนี้เราจะย้อนเวลากลับไปยังหาดใหญ่สมัยเป็นอำเภอเหนือ ด้วยเรื่องราวและคำบอกเล่าของคุณอาคุณาพรกัน
คุณอาคุณาพรเล่าว่า...อำเภอหาดใหญ่ในสมัยเมื่อ 80 ปี ก่อน ยังไม่พัฒนาและเจริญมากมายเท่าไรนัก และยังคงมีการรักษาขนบทำเนียมประเพณีรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างฝังราก คนเฒ่าคนแก่หลายคนเล่าให้คุณอาฟังว่า...แต่ก่อนเราเรียกอำเภอหาดใหญ่ว่า "อำเภอเหนือ" มีป่าไม้และน้ำท่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง แถวห้างไดอาน่า..เมื่อก่อนนั้นยังเป็นเพียงทุ่งนาขนาดใหญ่ไปตลอดจนถึงบ้านทุ่งเสา คุณปู่ของคุณอาไปทำไร่ไถนาอยู่ที่บ้านทุ่งเสาเป็นประจำ บางวันก็จะมาดักสัตว์และล่าสัตว์อยู่แถว ๆ ทุ่งนา (ห้างไดอาน่า) ซึ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ เก้ง กวาง และสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย มักจะลงมาจากเขาคอหงส์ เพื่อลงมาหาแร่ธาตุและอาหารในพื้นที่ราบ การล่าสัตว์ในบางครั้งก็ช่วยกันหลาย ๆ คน มีการไล่ต้อนด้วยธนูบ้าง ปืนบ้าง จะไล่จากแอ่งน้ำใหญ่ข้างห้างไดอาน่าในปัจจุบัน (อ่างน้ำที่ชาวบ้านเรียกสระของหลวงพ่อปาล ลิ้นดำ) บางทีสัตว์เหล่านั้นก็หนีไปทางวังน้ำดำ (เปิดท้ายกรีนเวย์) บางตัวก็หนีไปทางเนินดิน (ศูนย์หลวงประธาน/เปิดท้าย) จับได้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่วัน เสร็จสิ้นภารกิจก็จะเอาสัตว์ที่ล่าได้ มาแบ่งสรรปันส่วนกัน ซึ่งเป็นปกติวิถีแห่ความเอื้ออารีย์ของคนที่นี่ในสมัยก่อน
เมื่อ 80 ปีก่อน...ประเพณีในการเผาศพ หรือ ที่คนสมัยก่อนเรียกกันว่าการเผาผีนั้น เขาทำกันเช่นไร?
จากการสอบถามและเก็บข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ที่มีอายุมากกว่า 90 ปี (ข้อมูลจากคุณปู่ไข่และพ่อท่านแก้ว เจ้าอาวาสวัดคลองเรียน) ได้ความว่า...หากยามใดก็ตามที่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเหนือหรือบ้านเหนือ ชาวบ้านในอำเภอเหนือทั้งหมดจะส่งข่าวบอกกันปากต่อปาก จนรู้กันหมดทั้งพื้นที่ จะมีการลำเลียงศพเคลื่อนไปสู่เมรุเผายังป่าช้าโคกเน่า (โคกนาว) ซึ่งจัดเป็นเมรุเผาศพแบบดั้งเดิม กล่าวคือ มีเพียงการก่ออิฐฉาบปูนกั้นเพียงเล็กน้อย ยกระดับสูงจากพื้นพอให้ใส่ฟืนข้างใต้ได้ โลงศพจะถูกยกขึ้นมาตั้งบนเมรุเพื่อจัดการเผาตามพิธีกรรมทางศาสนา
ชาวบ้านที่มาร่วมงานจะไม่มามือเปล่า ชาวบ้านแต่ละคนจะเดินเท้าและมือถือมีดพร้าบ้าง ขวานบ้าง บางคนก็ถือดาบรบนำพาติดไม้ติดมือมาด้วย ใจเย็น ๆ นะครับ...ชาวบ้านไม่ได้ถืออาวุธเหล่านี้มา เพื่อเตรียมไปมีเรื่องกับใคร แต่หากนำพามีดพร้า ขวาน ดาบ ไปตัดไม้เสม็ดที่มีขึ้นอย่างหนาแน่นบริเวณแอ่งน้ำใหญ่หน้าป่าช้าโคกเน่า (ปัจจุบันแอ่งน้ำใหญ่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของ ม.อ.) เพื่อนำไม้เหล่านั้นมาทำฟืนสำหรับพิธีเผาศพ เมื่อชาวบ้านตัดไม้เสม็ดได้ตามที่ต้องการแล้ว (ประมาณคนละ 1-2 ท่อน) จึงจะทำการลอกเอาเปลือกไม้สดนั้นออกทั้งหมด เพราะหากใช้ไม้เสม็ดที่ยังไม่เลาะเปลือกออก ไฟจะไม่กินเนื้อไม้และไม่สามารถนำมาทำฟืนได้ ใต้เมรุเผาจะมีการนำเอาเศษยางหรือแผ่นยาง มาทำเป็นเชื้อไฟเริ่มต้น จะให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธี นำไม้เสม็ดมาใส่ใต้เมรุทีละคน ๆ จนหมดและเริ่มจัดแจงเผาศพเป็นเสร็จพิธี
อดีตบริเวณนี้เคยเป็นเชิงตะกอนมาก่อน
ตอนเผาศพนี่แหละ ที่คุณอาคุณาพรเล่าว่ามันมีเรื่องเล่าสนุก ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ชวนขนหัวลุกน่าดู ชาวบ้านคลองเรียนเล่าเอาไว้ว่า....... สัปเหร่อที่ได้รับมอบหมายงานเผาศพจะต้องดูแลพิธีการหรือกระบวนการเผาอย่างละเอียดทุกขั้นตอน มิฉะนั้นอาจทำให้เจ้างานไม่จ่ายเงินค่าทำศพได้ ครั้งหนึ่งปรากฏว่าสัปเหร่อที่ทำหน้าที่เผาและเฝ้าศพ คงจะดื่มเหล้ามากไปหน่อย ตาลุงสัปเหร่อเมาจนเผลอหลับคาเมรุเผา ครั้งเมื่อไฟเริ่มมอด ก็ไม่มีใครนำเอาเชื้อเพลิงมาเติมเพื่อเผาต่อให้เสร็จ เดชะบุญ...คราวนี้แหละหมาจรที่อาศัยอยู่แถวนั้นเลยขุดคุ้ยและคาบส่วนแขนของศพที่ยังมอดไม่หมด วิ่งพาไปยังสามแยกคลองเรียนตอนเช้าตรู่ เศษซากของศพที่หมาจรกัดแทะเหลืออยู่นั้น ได้สร้างความสยดสยองพองขนหัวให้แก่ผู้พบเจอเป็นยิ่ง (โดยเฉพาะแม่ค้าที่ต้องตื่นแต่เช้ามืด) กลายเป็นเรื่องเล่าลือกันว่าผีที่ป่าช้าโคกเน่าเฮี้ยนตราบจนทุกวันนี้
ปล.หากข้อมูลและเรื่องราวผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
เรียบเรียงใหม่: หาดใหญ่โฟกัส Hatyai Focus
ขอบคุณข้อมูลและเรื่องเล่า : คุณอาคุณาพร / Siamsouth
ศาลาทวดสะบ้าย้อย ความศรัทธาสู่สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวสะบ้าย้อย
15 ธันวาคม 2567 | 103ที่มา...ชื่อบ้านสำนักขาม (สะเดา)
15 ธันวาคม 2567 | 105กุโบร์บ้านท่ายาง อดีตที่ตั้งค่ายทหารรัฐปัตตานี สถานที่ฝังศพทหารในสงครามปัตตานีกับกองทัพสยาม
15 ธันวาคม 2567 | 111ชุมชนตลาดปริก(สะเดา) ศูนย์กลางของตำบลในอดีตสมัยร.5
8 ธันวาคม 2567 | 212เปิดตำนานเจ้านางสีดอกไม้กับเจ้าเมืองหลาโต๊ะเมือง ณ บ้านนาทับ (สงขลา)
8 ธันวาคม 2567 | 442รู้จัก...จับปิ้ง อาภรณ์นุ่งห่มของเยาวสตรีในอดีต
8 ธันวาคม 2567 | 157รู้หรือไม่? หาดใหญ่ปรากฎชื่อครั้งแรกในบันทึกประวัติศาตร์มาเลเซีย ก่อนปรากฎในพงศาวดารของไทย
24 พฤศจิกายน 2567 | 731พาชมตราพระปรมาภิไธยย่อ(ภปร.) และตำนานน้ำตกฉัตรวาริน จ.นราธิวาส
24 พฤศจิกายน 2567 | 230