"เขาตังกวน" ภูเขาที่ตั้งอยู่กลางอำเภอเมืองสงขลา เนินเขาที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเทศบาลนครสงขลา เมื่อตั้งแต่ครั้งก่อตั้งเทศบาล บนเขาตังกวนประกอบไปด้วยประภาคารที่คอยส่องไฟนำทางนักเดินเรือบนท้องทะเล เป็นเขาที่สูงที่สุดในเมืองสงขลา เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นวิวทั้งสองทะเลได้อย่างชัดเจน โดยท่านเจ้าคุณภัทรศีลสังวรพยายามค้นคว้าและศึกษา เกี่ยวกับเขาตังกวนอย่างจริงจัง มาเป็นเวลายาวนาน
มิติที่ 1 ด้านภาษา..."เขาตังกวน" มาจากนิทานที่มาของเกาะหนูเกาะแมว ที่เล่าว่า เขาตังกวนมาจากชื่อหมาตัวหนึ่งที่ชื่อว่า "ตังกวน" ส่วนหมาอีกตัวที่ชื่อว่า "น้อย" หมาสองตัวที่ล่องเรือสำเภามาพร้อมกับหนูและแมว ตามนิทานในตำนาน
มิติที่ 2 ด้านภูมิศาสตร์...มาจากภาษาท้องถิ่นภาคใต้ ระหว่าง "เขา" กับ "ควน" โดยทั่วไป "เขา" จะมีความสูงกว่า "ควน" กับ "ดอน" ถ้าสังเกตดูว่า "เขา" ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ข้าง ๆ "ควน" พูดไปพูดมาผิดเพี้ยนกลายเป็น "เขาตังกวน" ในที่สุด
***แต่เรื่องราวทั้งหมดไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพียงแต่จะหยิบยกมาให้เป็นข้อสังเกตและกรณีศึกษา***
บนเขาตังกวนมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน เรามาเริ่มต้นกันที่ "พระเจดีย์หลวง" เจดีย์ทรงระฆังคว่ำที่พวกเราชาวสงขลาคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี บริเวณใกล้ยังมีวัตถุโบราณอย่าง ป้อมปืนใหญ่สมัยอยุธยา แต่ที่เป็นโบราณสถานจริง ๆ คือ "พระเจดีย์หลวง" แต่เจดีย์องค์นี้ไม่สามารถทราบแหล่งที่มา ว่าใครเป็นคนสร้าง สร้างทำไม แต่มีเล่าต่อ ๆ กันว่า สร้างขึ้นโดยเจ้าเมืองสงขลาผู้มีบารมีและนับถือศาสนาพุทธ คนใดคนหนึ่ง มิอาจทราบได้ แต่มีการค้นพบหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
ในช่วงราว ๆ ปี พ.ศ. 2402 เป็นครั้งแรกที่รัชกาลที่ 4 ประพาสยังเมืองสงขลา และถือได้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่เสด็จประทับพระบาทยังเมืองสงขลา ที่สำคัญพระองค์ก็ยังได้เสด็จขึ้นไปชมวิวบนเขาตังกวนอีกด้วย พระองค์สอบถามถึงจุดต่าง ๆ ที่พระองค์สามารถทอดพระเนตรแลเห็นได้ สมัยนั้นมี เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) เป็นผู้ถวายการรับเสด็จพระองค์ แต่บริเวณรับเสด็จตามคำเล่าขานเราไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่บริเวณใดในสงขลา แต่คาดว่าจะอยู่บริเวณแหลมทราย ช่วงวัดแหลมทราย ในตอนนั้นเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ได้เกณฑ์คนทั่วเมืองสงขลามาสร้างพลับพลาที่ประทับของพระองค์ (แหลมทรายตั้งอยู่เชิงเขาตังกวน)
ข่าวที่ชาวสยามให้ความสนใจมากที่สุดในการเสด็จประพาสเมืองสงขลาของรัชการที่ 4 นั่นคือ "พลับพลาที่ประทับรัชกาลที่ 4" ใช้ไม้ไผ่และไม้ต่าง ๆ จากเมืองเทพา นาทวี สะบ้าย้อย จะนะ เพราะมีป่าไม้เยอะ มีการแบ่งหน้าที่แต่ละเมือง ให้ทำพลับพลารูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลับพลาเสวยพระกายาหาร พลับพลาประทับ เป็นต้น แต่ที่น่าเสียดายคือ...จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครสามารถเห็นภาพพลับพลาสวยงามและยิ่งใหญ่ต่าง ๆ นั้นได้ แม้แต่ภาพสเก็ตก็ยังไม่มี
ตอนที่รัชการที่4 เสด็จเมืองสงขลา พระองค์เสด็จมาทางชลมารค ด้วยเรือพระที่นั่งที่มีชื่อว่า "เรือเมขลา" เป็นเรือกลไฟลำใหญ่ต้องไปทิ้งสมอจอดเรืออยู่บริเวณเกาะหนู เกาะแมว เพราะเรือลำดังกล่าวลำใหญ่เกินกว่าที่จะมาจอดเทียบท่าที่เมืองสงขลาได้ เจ้าพระยาวิเชียรคีรีต้องนั่งเรือเล็กไปรับเสด็จพระองค์บนเรือ "ได้ข่าวว่างานนี้จัดได้ยิ่งใหญ่ดีมาก" นั่นเป็นคำตรัสแรกของรัชการที่ 4 ที่ตรัสกับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของงานรับเสด็จดังกล่าว เมื่อรัชการที่ 4 มาทอดพระเนตรเห็นพลับพลาก็ตรัสต่อไปว่า "อย่างนี้ไม่ใช่พลับพลาแล้ว นี่มันเป็นพระราชวังแหลมทราย" ข้อมูลต่าง ๆ บันทึกอยู่ในจดหมายเหตุเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้
พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปบนเขาตังกวน ซึ่งตอนนั้นเจดีย์โบราณมีสภาพเก่าและชำรุด พระองค์จึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์และรับสั่งให้เอาภาษี มาซ่อมพระเจดีย์บนเขาตังกวน แสดงให้เห็นว่าพระเจดีย์บนเขาตังกวนน่าจะมีมาก่อน รัชการที่ 3 และ 4 เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับก็ตรัสและมอบพระราชทรัพย์ไว้ เพื่อให้ซ่อมพระเจดีย์และสร้างที่ประทับบนเขาตังกวน
ต่อมาเมื่อรัชการที่ 5 เสด็จยังเขาตังกวน ทางเมืองสงขลามีการสร้างที่ประทับบนเขาตังกวนที่เรียกว่า "ศาลาพระวิหารแดง" ไว้รับเสด็จ และมีการสร้างพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4 เอาไว้หน้าบันศาลาพระวิหารแดง ภายในศาลาพระวิหารแดงที่มีโบราณสถานที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันหายไปแล้ว นั่นคือ "พระพุทธบาทจำลอง" สอบถามชาวบ้านไม่มีใครตอบได้ แต่น่าจะสูญหายไปในช่วงที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกยึดเมืองสงขลา ซึ่งบ้านเมืองตอนนั้นมีสภาพวุ่นวายมาก ๆ
ปล.ในหนังสือนำเที่ยวสงขลาเล่มแรกของ อ.ภิญโญ จิตธรรม เขียนเมื่อ พ.ศ.2506 มีการพูดถึงพระเจดีย์บนเขาตังกวน อ้างถึงพระเจดีย์พระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราช และมีการเรียกพระเจดีย์บนเขาตังกวนว่า "เจดีย์สูงสุดหมอก" แต่เราชาวสงขลาไม่ค่อยเรียกกัน
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ: ลุงก้อย และ พี่ส้มจี๊ด สวท.สงขลา
เขียนและเรียบเรียงใหม่: hatyaifocus หาดใหญ่โฟกัส
ภาพประกอบ: ภาพจาก CD ประกอบการบรรยาย โดยมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ / gotoknow.com / Panoramio / whitelight / พงศาวดารเมืองสงขลา
ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 195พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 783รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 589เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 439ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 772เรื่องเล่าจากความทรงจำบ้านท่าแช สู่ตำบลคลองอู่ตะเภาในปัจจุบัน
2 มีนาคม 2568 | 682ความรู้คู่การเวลา...ศึกษาหนังสือบุดโบราณ ณ วัดยางทอง(สะเดา)
2 มีนาคม 2568 | 660