หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

พาย้อนเรื่องราว..ก่อนการตั้งเทศบาลเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2478 ย่านวชิราสงขลา สองข้างของถนนทะเลหลวง
27 มิถุนายน 2564 | 6,378

หิวแล้ว!! เย็นนี้ไปวชิรากันม้าย ประโยคเด็ดที่ได้ยินหลังเลิกเรียน เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงไม่มีใครไม่รู้จักจักกับย่านวชิรา สงขลา แหล่งรวมอาหารอันเลื่องลือของชาวสงขลา นักศึกษา และนักเรียนรวมถึงประชาชนมักจะมาหาของกินคับคั่งในทุกค่ำคืน มีอาหารมากกว่า 50 กว่าร้านเรียงยาวตามแนวถนน ก่อนการตั้งเทศบาลเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2478 บริเวณนี้เป็นเพียงสันทรายและที่ราบชายทะเล ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ โรงเรียนวชิรานุกูล น่าจะเป็นผู้บุกเบิกยุคแรก ตั้งโรงเรียนขึ้นที่นี่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการเรียนการสอนของโรงเรียนมหาวชิราวุธ

ถนนทะเลหลวง เป็นถนนที่ตัดในแนวตะวันออกตะวันตก แยกออกมาจากถนนรามวิถี ตรงบริเวณหลังวัดโพธิ์ปฐมาวาส ซึ่งว่ากันว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสงขลา มีจิตรกรรมฝาผนังยุคต้นรัตนโกสินทร์ น่าเข้าไปแวะชมจากหลังวัดโพธิ์ ถนนทะเลหลวงตัดผ่านบริเวณที่ตั้งของคลังน้ำมัน ซึ่งย้ายไปฝั่งหัวเขาแดงแล้วในปัจจุบัน ไปจรดกับปลายถนนราชดำเนินนอก แต่เมื่อมีการตัดถนนชลาทัศน์เลียบชายทะเลหาดสมิหลา ถนนทะเลหลวงก็เลยขยายต่อไปผ่านหน้าฐานทัพเรือสงขลาไปเชื่อมกับถนนชลาทัศน์ถึงชายทะเลเลยทีเดียว

นอกจากนี้ในอดีตถนนทะเลหลวงยังตัดผ่านทางรถไฟถึง 2 แห่งด้วยกัน คือทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลาและทางรถไฟสายแยกไปท่าเรือริมทะเลสาบจึงนับได้ว่า ถนนทะเลหลวงเป็นถนนสายใหม่ที่เชื่อมระหว่างถนนรามวิถีกับชายทะเลอ่าวไทย อยู่คู่กับการพัฒนาของเทศบาล นอกเหนือจากถนนปละท่าซึ่งมีมานานกว่า

จากถนนทะเลหลวงซึ่งเป็นถนนสายหลัก มีการตัดซอยแบบก้างปลาออกไปทั้งสองฝั่งในแนวเหนือใต้กว่า 20 ซอย โดยให้เลขลำดับซอยฝั่งเหนือเป็นเลขคี่ ฝั่งใต้เป็นเลขคู่ สุดซอยฝั่งเหนือไปเชื่อมกับถนนเพชรมงคล ส่วนฝั่งใต้ไปสุดที่ถนนนอกสวน แล้วย่านวชิราก็เจริญพัฒนามาเป็นลำดับ มีบ้านเรือนตั้งขึ้นภายในซอยอย่างหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองสงขลา แม้ไม่เก่าแก่เท่าย่านเมืองเก่าถนนนครใน ถนนนครนอกและถนนนางงาม

สวนมะพร้าว ลานโล่งที่เคยมีหนังกลางแปลงเข้ามาฉาย ก็ถูกแทนที่ด้วยอาคารพาณิชย์ ตึกแถว ทาวเฮาส์ปลายถนนทะเลหลวง หน้าโรงเรียนวชิรานุกูล เคยเป็นที่ตั้งของอู่รถเมล์สายรอบเมืองสงขลาอีกด้วย แต่เลิกกิจการไปกว่า 30 ปีแล้ว หากย่านเก่าบริเวณถนนนางงามจะเป็นแหล่งของกินคลาสสิกสำหรับชาวเมืองสงขลาในช่วงกลางวัน ย่านวชิราก็เป็นแหล่งของกินชาวบ้านช่วงหัวค่ำไปจนถึงดึก แม้จะเรียกว่าโต้รุ่งไม่ได้เต็มปากเต็มคำนัก

แถวนี้คึกคักมากเนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและมีหอพักของนักเรียนนักศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนต่าง ๆ ในเครือวชิรานุกูลและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ไม่แพ้ย่านสำโรงซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ชาวบ้านแถบนี้เมื่อกลับจากพักผ่อน ออกกำลังกาย เล่นน้ำที่ชายทะเลตอนเย็น ก็มาแวะหาสำรับกับข้าวมื้อค่ำกันที่นี่ ทุกวันนี้ถนนเริ่มคับแคบด้วยปริมาณรถราที่เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถขยายได้อีกแล้ว แม้แต่ซอยหลายซอยก็กลายเป็นซอยตัน จากการสร้างอาคารขวางกั้น น่าเสียดายพื้นที่ที่เคยถือได้ว่ามีการบุกเบิกและวางผังเมืองอย่างดียุคแรกของเทศบาลเมืองสงขลา แต่กลับแออัดกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากการปล่อยให้ชุมชนเติบโตตามยถากรรมในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

ขอบคุณข้อมูล : นายพุทธพร ส่องศรี 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง