หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

พระยาอรรถกระวีสุนทร และคุณหญิงหลงฯ ผู้ให้กำเนิดม.อ.หาดใหญ่
30 พฤษภาคม 2564 | 12,341

หาดใหญ่เมืองเจริญด้วยผู้สร้างหลากหลายคนที่มีชื่อเสียงแตกต่างกันไปฝนสังคมสมัยนั้น อีกหนึ่งคนผู้มีพระคุณกับชาวหาดให่ที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดีในชื่อของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาอรรถกระวีสุนทร นามเดิมสงวน ศตะรัตน์ เป็นบุตรของ พระดำรงราชานุภาพ (ช้อย) มารดาชื่อเอม เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2428 ท่านได้มาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลนครสวรรค์ต่อจากพระยามหินทรเดชานุวัตน์ และเป็นสมุหเทศาภิบาลคนสุดท้าย ก่อนที่จะยุบมณฑลนครสวรรค์ ไปรวมกับมณฑลอยุธยา (มณฑลกรุงเก่า) ใน พ.ศ. 2475

พระยาอรรถกระวีสุนทรเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านก่อน แล้วจึงเข้าไปเรียนในโรงเรียนของกระทรวงมหาดไทย เรียนได้ปีเศษโรงเรียนยุบเลิก จึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนสายสวลีสัณฐาคาร จนสอบไล่ได้ประโยค 2 ชั้น 1 ของกรมศึกษาธิการ แล้วจึงลาออก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงแนะนำให้บิดาพาท่านไปฝากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อท่านสอบไล่ประโยคนักเรียนสำเร็จใน พ.ศ. 2444 ทางโรงเรียนจึงนำเข้าเฝ้าถวายตัวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็น “มหาดเล็กวิเศษ” รุ่นแรก

เมื่อเรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนมหาดเล็กชั้นปีที่ 3 แล้วท่านถูกส่งตัวไปฝึกงานตามอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาชั่วคราว แล้วจึงสอบไล่ประโยคมณฑลของมณฑลปราจีนบุรี ต่อจากนั้นจึงไปเป็นมหาดเล็กรายงานอยู่มณฑลนครราชสีมา 1 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นท่านยังได้ปฏิบัติงานแทนนายอำเภอสูงเนินอยู่ 3 เดือน

เมื่อพ้นจากตำแหน่งมหาดเล็กรายงานแล้ว ท่านได้เป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรในตำแหน่งผู้รั้งเลขานุการมณฑลนครราชสีมาใน พ.ศ. 2447 ต่อมาได้เลื่อนเป็นเลขานุการรับราชการอยู่ 3 ปี จึงถูกย้ายเข้ากรุงเทพมหานคร ไปเป็นปลัดกรมเวรวิเศษในกระทรวงมหาดไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น ได้โปรดให้ท่านทำหน้าที่เลขานุการประจำพระองค์ทั้งที่กระทรวงและวัง ทั้งยังต้องตามเสด็จเวลาเสด็จตรวจราชการหัวเมืองด้วย ในระหว่างนั้นท่านใช้เวลาว่างศึกษาวิชากฎหมาย จนสอบไล่กฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตชั้น 2 ของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ใน พ.ศ. 2451 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิชิตเสนี และยังคงรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทยในตำแหน่งปลัดกรมฝ่ายเหนือ จนถึง พ.ศ. 2453 กระทรวงจึงส่งออกไปเป็นข้าหลวงมหาดไทย มณฑลนครศรีธรรมราช

พระยาอรรถกระวีสุนทรรับราชการอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 15 ปี เริ่มด้วยตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑล ยกกระบัตรมณฑล ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง และอัยการมณฑลตามลำดับ จนถึง พ.ศ. 2469 จึงได้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในระหว่างที่รับราชการภาคใต้นั้น ท่านได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระพัทลุงคะบุรีศรีรหัทเขตรพระอนันต์นรากูล แล้วจึงเป็นพระยาอรรถกระวีสุนทร ในปี พ.ศ. 2464 ครั้นถึง พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ แม้ว่าท่านจะมีเวลารับราชการอยู่ที่มณฑลนครสวรรค์เพียง 3 ปี ท่านก็ได้สร้างผลงานในการพัฒนาเมืองนครสวรรค์ปรากฏหลักฐานจนถึงปัจจุบัน คือการตัดถนนเพื่อการคมนาคมภายในเมืองสืบต่อจากพระยามหินทรเดชานุวัฒน์ ถนนสำคัญคือ ถนนอรรถกวี ซึ่งตัดจากเขากบถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนสายนี้จึงขนานนามตามราชทินนามของท่านเพื่อเป็นอนุสรณ์

ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ได้มีการยุบมณฑลนครสวรรค์ โดยจัดให้จังหวัดต่างๆ ของมณฑลนี้ไปขึ้นกับมณฑลอยุธยายกเว้นจังหวัดตากและกำแพงเพชรซึ่งไปขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก พระยาอรรถกระวีสุนทรย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลปราจีนบุรี และยังได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีด้วย ครั้นถึง พ.ศ. 2476 หลังจากที่รัฐบาลยุบมณฑลแล้วท่านได้รับตำแหน่งข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย แล้วเป็นข้าหลวงใหญ่สังกัดคณะรัฐมนตรี จนถึง พ.ศ. 2481 จึงออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญ

พระยาอรรถกระวีสุนทรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คนหาดใหญ่ให้ความเคารพนับถือ เรียกขานกันว่าเป็น นักซื้อที่ดิน รวมถึงคุณพระและคุณหญิงหลงภรรยานั้นคือเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดของเมืองหาดใหญ่ ที่ดินของตระกูลนี้ในหาดใหญ่กินเนื้อที่บริเวณสองฟากถนนไทรบุรีเดิม และที่เป็นผืนใหญ่ที่สุดก็คือที่ดินที่บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กว่าพันไร่

เมื่อปีพุทธศักราช 2500 พระยาอรรถกระวีสุนทรได้ถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงหลงฯ ได้รับภาระในธุรกิจต่อมาจนได้เวลาส่งมอบให้ลูก ๆ รับช่วงต่อไป สิ่งสำคัญที่ทำให้ท่านมีความพอใจอย่างยิ่งในบั้นปลายชีวิตคือการมอบที่ดินเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั่นก็คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ดังคำปรารภของลูก ๆ ของท่านที่ว่า

“เมื่อคุณพ่อสิ้นแล้วท่านก็ยังปรารภอยู่เสมอว่า ถ้าขายที่ดินได้เงินก้อนใหญ่เมื่อใดจะบริจาคช่วยเหลือทางด้านการศึกษาให้เป็นล้ำเป็นสันสักก้อนหนึ่ง พอดีขณะนั้น ดร. สตางค์ มงคลสุข ได้มาหาท่านและปรารภว่าทางราชการมีความประสงค์จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ ได้ดูทั่วแล้วไม่เห็นที่ใดเหมาะสมเท่าที่สวนยาง ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ของท่าน อยากทราบว่าท่านจะขายหรือไม่ และจะขายเท่าใด ท่านได้นำเรื่องหารือกับลูก ๆ ซึ่งทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าท่านควรยกให้จะได้สมความปรารถนาที่ท่านมีมานานแล้ว และเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป” พระยาอรรถกระวีสุนทรถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2500 มีอายุ 72 ปี

ขอบคุณภาพข้อมูล : PSU Memory ภาพ : พระยาอรรถกระวีสุนทร โดย Thanachai Kapialakanchana

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง