หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินเพลงที่มีคำร้องว่า ขอถามมีเมืองไหน บนด้ามขวานทองมีสองเลใหญ่มีนางเงือกสาวสวย มีลักยิ้มด้วย ไม่บอกว่าข้างไหน ส่วนทางแอดมินนั้นจำได้ขึ้นใจเพราะตอนที่เริ่มศึกษาในมหาวิทยาลัยทักษิณปี 1 ในวันปฐมนิเทศทางอาจารย์เปิดให้ฟัง เพื่อให้นักศึกษาใหม่ที่มาจากต่างจังหวัดซึมซับความสวยงามของเมืองสงขลา นั่นอง
โดยเพลงเต็ม ๆ จะมีเนื้อเพลงว่า ขอถามมีเมืองไหน บนด้ามขวานทองมีสองเลใหญ่มีนางเงือกสาวสวย มีลักยิ้มด้วยไม่บอกว่าข้างไหนงามหาดสมิหลา สุดหูสุดตา เสียงสนเสียดใบ เกาะหมูเกาแมวไล่กัน ทุกวี่ทุกวันมันไล่กันทำไม ลองขึ้นเขาตังกวน ฝูงลิงมันชวนขึ้นลิฟท์ว่องไว มองไปในทะเล เห็นเรืองตังเก กอและห่างไกลชวนน้องไปลองผลักหิน คงเคยได้ยินเก้าเส้งใช่ไหม อยากจังอยากมาสู่ขอเงินยกให้พ่อ พ่อมายกหินไป สงขลาสงขลา ลองมาสงขลากันม้าย
ลองชิมเต้าหู้ยี้ เถ้ากั่วหมี่ หรือขนมไข่ไอศครีมไข่แข็ง ถั่วเขียว ครองแครง ข้าวมันแกงไก่ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า ข้าวยำ ลองกินเหนียวดำ ซาลkเปาลูกใหญ่ก๋วยเตี๋ยวอยู่ใต้โรงงิ้ว ใครอย่าแซงคิว แม่ค้าเขาปากไว เดินสองขาพาเดิน สองตามองเพลินถ้ายังเดินไหวหรือจะนั่งสามล้อ คนถีบเขารอ พ่วงข้างพาไป ถนนยังชื่อนางงาม ยิ่งแลยิ่งงาม นครนอก คอนในห้องแถวบ้านเก่าโบราณ อยู่กันมานาน ทั้งคนจีนแขกไทย
1. ที่มาของเนื้อเพลง "ชวนน้องไปลองผลักหิน คงเคยได้ยินเก้าเส้งใช่ไหม อยากจังอยากมาสู่ขอ เงินยกให้พ่อ พ่อมายกหินไป"
หัวนายแรง ก็คือ หัวนายแรงซึ่งเป็นโขดหินอยู่แถวเก้าเส้ง ซึ่งห่างจากหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร "หัวนายแรง" มีประวัติเล่าว่า นายแรงเป็นพ่อค้าสำเภาที่ร่ำรวยมาก เมื่อทราบข่าวว่ามีการสร้างพระธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช เขาก็แล่นเรือสำเภาไปเพื่อจะร่วมบุญด้วย แต่ปรากฎว่าเมื่อเรือมาถึงสงขลา ก็เจอเกิดพายุจนเรือแตกจึงต้องจอดซ่อมเรือที่บริเวณหาดเก้าเส้ง และเมื่อเรือซ่อมเสร็จ ก็ได้ข่าวว่าพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้นายแรงเสียใจมากที่ไม่ได้ไปร่วมทำบุญจนล้มป่วย เขาจึงนำทรัพย์สมบัติจำนวนมากไปฝังไว้ที่เชิงหน้าผา และอธิษฐานให้ตัวเขามีเรี่ยวแรงยกก้อนหินใหญ่มาปิดไว้ พร้อมอธิษฐานว่าผู้ที่จะมาเอาสมบัติดังกล่าวไปได้ จะต้องเป็นลูกหลานของเขา หรือเมื่อพระธาตุนครศรีธรรมราชทรุดโทรมและต้องบูรณะปฏิสังขรณ์ ก็จะมีคนสามารถมานำสมบัตินั้นไป
ส่วนที่เรียก"หัวนายแรง"นั้น มีเรื่องเล่าวว่านายแรงให้ผู้อื่นตัดศีรษะเขาด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่สามารถเดินทางไปร่วมสร้างพระธาตุนครศรีธรรมราชได้ โดยเขาเชื่อว่าเพราะตัวเองเป็นผู้มีบาป จึงให้คนตัดหัวเขาแล้ววางไว้บนทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ โดยเชื่อกันว่า"สมบัติ"ที่นายแรงฝังไว้คิดเป็นเงินประมาณ 9 แสนบาท(ถึงตอนนี้น่าจะเป็นสิบๆล้าน) ชายหาดแถวนั้นจึงเรียก"หาดเก้าแสน"และเพี้ยนเป็น"เก้าเส้ง"ในปัจจุบัน จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครผลักหิน"หัวนายแรง"ตกหน้าผาได้
2.ที่มาของเนื้อเพลง "ถนนยังชื่อนางงาม ยิ่งแยิ่งงาม นครนอก คอนใน ห้องแถวบ้านเก่าโบราณ อยู่กันมานาน ทั้งคนจีนแขกไทย"
ก็คือ"ถนนนางงาม" ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าในจังหวัดสงขลา ซึ่งดังคู่กับย่านเมืองเก่าอีก 2 สาย คือถนนนครนอก และถนนนครใน ถนนทั้ง 3 สายมีห้องแถวไม้แบบจีน ตึกคลาสสิกสไตล์ "ชิโน-โปรตุกีส"(หลายคนคงคุ้นจากเมืองภูเก็ต) และยังเป็นถนนที่มีขนมอร่อยๆทั้งของไทย จีน ฝรั่ง ให้เลือกชมและชิมอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ หลายคนอาจจะอยากรู้เรื่อง"ชื่อ"ของ "ถนนนางงาม" ว่านางงามอะไร? ใครคือนางงาม? และทำไมกลายมาเป็นตำนานของถนนชื่อน่ารักสายนี้ เดิมถนนสายนี้ ชื่อ"ถนนเก้าห้อง" และถูกเรียกเป็น "ถนนนางงาม"
คนเก่าแก่จะเล่าว่า คนที่เป็นเจ้าของ"ชื่อถนน"คือคุณกมลทิพย์ สุดลาภา ชาวสงขลาที่เกิดและเติบโตย่านถนนสายนี้ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียน"วรนารีเฉลิม" โรงเรียนสตรีคู่เมืองสงขลา และครุศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยครูสวนดุสิต และแต่งงานกับคุณเชาวน์วัศ สุดลาภา อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัด แต่ดร.ศรีสุพร ช่วงสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสงขลา" ระบุว่า "ถนนเก้าห้อง" มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2385 ถูกเรียกขานเป็น "ถนนนางงาม" หลังปี 2478 เพราะเป็นปีที่จังหวัดสงขลาเริ่มจัดงานปีใหม่และงานฉลองรัฐธรรมนูญ และมีประกวดนางงามสงขลาเป็นปีแรก
ประวัติศาสตร์ระบุว่า นางงามสงขลาคนแรก เป็นสาวงามจากถนนเก้าห้อง คือ คุณนงเยาว์ โพธิสาร (นามสกุลเดิม "บุญยะศิวะ") ทำให้ชาวสงขลา(พร้อมใจกัน)เรียก"ถนนเก้าห้อง" ว่า"ถนนนางงาม" ตั้งแต่นั้น อีกตำนานระบุว่า ชื่อ "นางงาม" อาจเพี้ยนเสียงมาจาก "นางาม" เพราะบริเวณนี้เคยเป็นท้องนามาก่อน และพัฒนาเป็นย่านการค้าของสงขลา มีเรือสินค้ามาขึ้นฝั่งคึกคักมา โดยมีโรงชื่อดังที่สุดคือ"โรงสีแดง" หรือ"โรงสีหับโห้หิ้น" เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า เอกภาพ ความกลมกลืน และความเจริญรุ่งเรือง
ขอบคุณข้อมูล : รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น ,oknation blog ลูกเสือหมายเลข 9
ย้อนเหตุการณ์...พิธีสมรสหมู่ ณ เมืองพัทลุง
10 พฤศจิกายน 2567 | 58ตามรอย 3 โรงสี เมืองสงขลา(บ่อยาง)
10 พฤศจิกายน 2567 | 85อีก 1 ตำนานเมืองหาดใหญ่ ตลาดสันติสุข-แผงทอง สวรรค์ของนักช็อปตัวยง
10 พฤศจิกายน 2567 | 112นกกรงหัวจุก สัตว์เลี้ยงคู่ใจของชาวปักษ์ใต้
3 พฤศจิกายน 2567 | 204ย้อนรอยโบราณ วัดโรงน้อยขึ้นพะโคะ สู่วัดโรง อ.กระแสสินธุ์
3 พฤศจิกายน 2567 | 165ตำนานแห่งสายน้ำ...การแข่งขันประเพณีเรือยาว (บางกล่ำ)
3 พฤศจิกายน 2567 | 183ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 226ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 222