วลีเด็ดในยุคนั้น! ที่ใครหลายคนคงได้ยินอย่างหนาหู "ไข่ฉิบหายตายเสียแล้ว" คุณเอนก นาวิกมูล เขียนเมื่อสาย ของวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2563 โดยได้เกริ่นไว้ว่า จำเป็น นาคเกลี้ยง หรือ อ.เพ็ญศิริ ขุททกพันธุ์ เพื่อนเก่าสมัยชั้นประถมที่ระโนด จ.สงขลา ส่งข่าวมาทาง Line วันศุกร์ที่ 4 ก.ย. 2563 ผมยกมือไหว้ระลึกถึงไข่ และภาวนาขอให้แกไปดี ไข่ฉิบหายหรือไข่ชิบหายเป็นจิ๊กโก๋ คนแรก ๆ ของระโนด ผมได้ยินชื่อเสียงของแกมาตั้งแต่เด็ก
ยุคใกล้ 2510 วัยรุ่นสายจิ๊กโก๋ สายช่างกล ชอบนุ่งกางเกงเดฟ ซึ่งเป็นกางเกงรัดรูป เห็นแล้วกวนอารมณ์ แต่ไม่มีใครกล้ายุ่งส่วนพวกเรียบร้อย เลือกไปทางกางเกงมอส หรือกางเกงขาบาน (น่าจะช่วยกวาดพื้นได้) ใส่กับรองเท้าส้นตึกหนาๆ ดูเท่ดี ยุค 2510-2520 บรรยากาศการแต่งกายของวัยรุ่นในเมืองเป็นเช่นนั้น
ตลาดระโนดตั้งอยู่ริมคลองระโนด เหนือตลาดเป็นทุ่งนาที่กว้างใหญ่และสวยงาม ไม่แพ้นาทางภาคกลางท่าเรือตอนกลางวันมีคนเดินกันคึกคัก บ้างมาซื้อของจากตลาด บ้างมาลงเรือกลับบ้าน บ้างมานั่งสูบยา หรือดื่มน้ำชา คุยกันโขมงโฉงเฉง เครื่องเรือหางแผดเสียงบอกความยิ่งใหญ่ฉับไวเป็นระยะๆตลอดวัน พอตกค่ำ เรือด่วนจะออก คนก็ทยอยมาลงเรือเพื่อให้เรือพาฝ่าความมืดไปกลางทะเลสาบทั้งคืน
หมูในกระชุนอนหายใจระรวย เป็ดไก่ในเข่งยอมสงบปาก ข้าวสารในกระสอบนอนนิ่งไม่ไหวติง เรือสำหรับมวลชนที่จะพาคนมากๆไปยังที่ไกลๆคือเรือด่วน กับเรือหางยาว ถ้าหันหัวเรือไปทางทิศตะวันตก ก็หมายความว่าไปทางทะเลสาบด้านทะเลน้อย จ.พัทลุง ผ่านหัวป่า ตะเครียะ บ้านเกิดอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้
หรือแล่นลงไปไกลถึงสงขลาซึ่งอยู่ตอนล่างถ้าหันหัวไปทางทิศตะวันออกก็ไปทางหัวเค็ด คลองเป็ด และคลองแดน ติด อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช คลองแดนเดี๋ยวนี้กลายเป็นตลาดริมน้ำที่มีชื่อเสียง แถวนั้นคือบ้านอาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม นักเลงภาษาอีกคน ไข่ฉิบหาย นุ่งกางเกงฟิตเปรี๊ยะ ใส่เสื้อแขนยาวพับปลายขึ้นไปจนเกือบถึงหัวไหล่ ตัดผมทรงมดแดงชะเง้อ ท่าทางชวนหมั่นไส้มาก แต่ความจริงไข่ฉิบหายไม่เคยระรานใคร
วีรกรรมของไข่ฉิบหายคือขับเรือหางยาวเล่นด้วยความเร็วสูง แถมมีลีลาโลดโผนหวาดเสียว เสี่ยงตายสุด ๆ บางทีขับเล่นคนเดียว พอติดเครื่องเรือหางเสร็จแกก็เผ่นไปนอนทางด้านหัวเรือ แล้วโคลงตัวไปมาให้เรือแล่นไปเอง จนพอใจแล้วจึงมาถือท้ายอย่างเก่า บางทีเอาตีนถือหางเสือ แทนมือ แบบนี้ปกติไม่มีใครทำ แต่ไข่ฉิบหายก็พาเรือรอดหวุดหวิดไปได้เสมอ คนในคลองคงแอบด่าแม่ไข่ฉิบหายในใจทุกครั้งที่ไข่ฉิบหายแสดงอิทธิฤทธิ์เพราะกลัวเกิดอุบัติเหตุ
ใครนั่งเรือลำของไข่ฉิบหายแล้วเสียวสันหลังวาบไปทั้งตัว ภาวนาในใจขอให้ไปตลอดรอดฝั่งเถิดผมถามจำเป็น ว่าฉายา “ไข่ฉิบหาย” เกิดขึ้นได้อย่างไรจำเป็นว่าเท่าที่ฟังจากคนไปงานศพ ฟังเขาอ่านประวัติแล้ว สรุปคร่าวๆว่า ไข่ขับเรือระหว่างระโนดกับหัววัง คลองเป็ด ผักกูด จนถึงคลองแดน วันหนึ่ง คนแก่คนหนึ่งลงเรือแล้วบอกว่า ลูกเหอ อย่าขับเร็วนักนะ กูเสียว
แต่ไข่ฉิบหายก็ยังคงขับซิ่งไปตามตามสไตล์ของเขา คนแก่ทนไม่ไหวจึงตะโกนขึ้นว่า ไอ้ไข่เหอ ถ้ามึงขับพรรค์นี้กะฉิบหายเท่านั้นแหละ!! นายไข่ก็เลยได้เป็น “ไข่ฉิบหาย” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
พ.ศ.2551 ผมลงไปเยี่ยมระโนด ลองถามเพื่อนเก่าอีกคนคือครูเล็ก-ศิริโรจน์ วิจิตรสงวน หรือ “เล็กเต้าคั่ว” หรือเล็กที่เคยเดินขายเต้าหู้ทอด(อร่อยมาก) เล็กบอกว่าไข่น่าจะยังมีชีวิตอยู่ เห็นเขาว่าแกอยู่แถวชุมชนโรงไฟฟ้า ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอระโนดเก่า แล้วเล็กก็พาผมไปเสาะหาจนพบวีรชนคนรุ่นเก่าที่อยู่ในใจผมมานาน
ตอนนั้น ไข่ฉิบหายอายุ 70 ปีแล้ว ผมได้ทราบว่าไข่ไม่ใช่คนขับเรือธรรมดา แต่เป็นคนมีวิชา ถ้าไปอยู่กรุงเทพฯหรือเมืองนอก คงทำอาชีพโชว์เรือผาดโผนได้ ตำรวจจะไปจับโจรที่ไหน เรืออื่นไม่ไป เรือไข่ฉิบหายยินดีรับใช้
นี่แหละคือคนจริง เรื่องของไข่ และตัวเพ็ญศิริเองยังมีอีกพอสมควร จะเขียนหมดก็คงยาวเกินหน้ากระดาษ (ว่าไปตามสำนวนเก่า กระดาษไหนไม่รู้ เป็นกระดาษไฟฟ้าหมดแล้ว) เอาไว้เขียนคราวอื่นบ้าง
พิธีศพของไข่ตั้งที่วัดใหม่หรือวัดราษฎร์บำรุง วัดที่ผมเคยไปบวช ผมถามครูจำเป็นว่ารู้ข่าวจากไหน ได้คำตอบว่า จากเสียงตามสายของเทศบาล ลูกสาวของไข่บอกผู้ประกาศว่า ประกาศนายโอภาส ทองขาว ตายคงไม่มีใครรู้จัก บอกว่าชื่อไข่ ก็คงไม่รู้ไข่ไหน อนุญาตให้ประกาศไปได้เลยว่า “ไข่ฉิบหาย” รับรองคนรู้ทั่ว โดยเฉพาะคนเก่า ๆ ไข่ฉิบหายถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 82 ปี เรื่องของไข่ฉิบหาย ถือเป็นตำนานบทหนึ่งของระโนด
ขอบคุณภาพข้อมูล : คุณเอนก นาวิกมูล
ย้อนเหตุการณ์...พิธีสมรสหมู่ ณ เมืองพัทลุง
10 พฤศจิกายน 2567 | 230ตามรอย 3 โรงสี เมืองสงขลา(บ่อยาง)
10 พฤศจิกายน 2567 | 215อีก 1 ตำนานเมืองหาดใหญ่ ตลาดสันติสุข-แผงทอง สวรรค์ของนักช็อปตัวยง
10 พฤศจิกายน 2567 | 275นกกรงหัวจุก สัตว์เลี้ยงคู่ใจของชาวปักษ์ใต้
3 พฤศจิกายน 2567 | 240ย้อนรอยโบราณ วัดโรงน้อยขึ้นพะโคะ สู่วัดโรง อ.กระแสสินธุ์
3 พฤศจิกายน 2567 | 301ตำนานแห่งสายน้ำ...การแข่งขันประเพณีเรือยาว (บางกล่ำ)
3 พฤศจิกายน 2567 | 263ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 287ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 309