กว่าจะเป็น ‘ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล’ ม.สงขลานครินทร์ 1 ใน 9 นักวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงผลงานสูงสุดระดับโลก 6 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2015-2020 โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ของการทำงานในตำแหน่งอาจารย์ และพาตัวเองไปยังจุดสูงสุดในตำแหน่งทางวิชาการ จากความสามารถที่โดดเด่น จนถูกยอมรับในระดับโลก การันตีด้วยผลงานวิจัย และการกวาดรางวัลต่างๆ มามากมาย
ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอุตสาหกรรมเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระดับปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีอาหาร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นได้รับทุน Fulbright ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขา Food Science and Technology ที่ Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล ปฏิบัติงานภายใต้สังกัด International Center of Excellence in Seafood Science and Innovation มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน่วยงานที่มุ่งวิจัยด้านอาหารทะเล วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมอาหารทะเล เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งการวิจัยด้านอาหารทะเลเป็นสิ่งที่ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ ให้ความสนใจตั้งแต่เริ่มทำงาน โดยแบ่งงานวิจัยเป็น 2 สาขา ได้แก่ คุณภาพอาหารทะเล และการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปสัตว์น้ำ
ด้วยความที่เป็นทั้งอาจารย์และนักวิจัย ศ.ดร.สุทธวัฒน์ มองว่า การเรียนการสอนกับงานวิจัยเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ในฐานะที่เป็นอาจารย์ ภารกิจหลัก นั่นคือ การสอน การสอนที่ดีอาจารย์จะต้องมีความรู้ ต้องพยายามศึกษาหาความรู้ และสิ่งที่ได้มาจากงานวิจัย ซึ่งงานวิจัยจะต้องเริ่มจากองค์ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการวิจัยที่ถูกต้อง และได้มาซึ่งองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เพื่อนำไปถ่ายทอดแก่นักศึกษา ดังนั้น งานสอนและงานวิจัยจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินไปด้วยกัน
สำหรับความสำเร็จในตำแหน่งอาจารย์นั้น ศ.ดร.สุทธวัฒน์ มีความมุ่งมั่นตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าจะต้องไปยืนในจุดสูงสูด นั่นคือ ศาสตราจารย์ ซึ่งปัจจุบัน ศ. ดร.สุทธวัฒน์ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 11 ด้านความสำเร็จในฐานะนักวิจัยคงเห็นได้ชัดจากรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รางวัลนักวิจัยแห่งชาติ รางวัลศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รางวัลวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 นักวิจัยแกนนำของไทย ประจำปี 2563 จากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จากโครงการวิจัย “การใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน / นิวตราซูติคอลและสารเติมแต่งอาหารชนิดใหม่” ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณการสร้างเครือข่ายวิจัยด้านการแพทย์และอาหาร จำนวน 20,000,000 บาท และการได้เป็น 1 ใน 9 นักวิจัย ที่ได้รับการอ้างอิงผลงานสูงสุดระดับโลก (Highly Cited Researcher) 6 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2015-2020 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จท่ามกลางโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด มีคู่แข่งมากมาย จะต้องใช้ความพยายาม ความสามารถ และความมุ่งมั่นตั้งใจ จึงจะสามารถฝ่าฝันไปได้
ศ.ดร.สุทธวัฒน์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานได้พบเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้มากขึ้น ทุกคนล้วนย่อมพบเจอกับอุปสรรคและปัญหาด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีวิธีแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความอดทน สุดท้ายอุปสรรคเหล่านั้นจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้รู้จักการแก้ไขปัญหา รู้จักหลีกเลี่ยงปัญหา และจะทำให้เราคุ้นเคยกับปัญหา สามารถปรับตัวเข้ากับปัญหานั้นได้ และจะผ่านไปด้วยดี
“ฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่จะต้องมีความขยัน อดทน มีเป้าหมายชัดเจน ห้ามท้อถอย เพราะความผิดพลาดไม่ได้หมายความว่าเราล้มเหลว แต่ในทางกลับกันทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฉะนั้น หากเราทุ่มเท เราก็จะได้ในสิ่งที่เรามุ่งหวังไว้” ศ. ดร.สุทธวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
"เกียว"เบเกอรี่จากรุ่นแม่สู่คุณลูก กว่า 30 ปี ร้านขนมปังเล็กๆที่ไม่ธรรมดาในสะเดา
8 ธันวาคม 2567 | 394ช่างนวล ควนเนียง ศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานบนผืนหนัง
24 พฤศจิกายน 2567 | 571"ป้าบ่วย" เจ้าของร้านฮับเซ่ง สภากาแฟที่ตั้งอยู่คู่เมืองเก่าสงขลาร่วม 100 ปี
25 ตุลาคม 2567 | 2,350"หมี ศุภวิชญ์" ทายาทรุ่นที่ 4 ไอติมบันหลีเฮงสงขลา ส่งตรงจากรุ่นอากงอาม่ากว่า 100 ปี
15 ตุลาคม 2567 | 2,775"โกหล่าย" ทายาทรุ่นที่ 2 ร้านตัดผมสมบูรณ์เกษาหาดใหญ่
21 สิงหาคม 2567 | 1,308ดอกผลของความเพียร สู่ทุเรียนสองฝนสวนบังบา สวนแรกเริ่มจัดงานบุฟเฟต์ทุเรียน(เขาพระ)
18 สิงหาคม 2567 | 988ป้าแอด หญิงแกร่งแห่งอำเภอรัตภูมิ ยึดอาชีพทำนาจนเกิดเป็นแบรนด์ข้าวสังข์หยด สบายแสนคูหาใต้
23 มิถุนายน 2567 | 1,409"ลุงแจ้ว"สามล้อถีบรุ่นสุดท้ายแห่งเมืองสงขลา ขี่สามล้อถีบมากว่า 59 ปีกับอาชีพที่รักและมีความสุข
13 มิถุนายน 2567 | 1,731